1. เหตุด่วน ที่ต้องการความช่วยเหลือทันที เช่น ในขณะที่ถูกกระทำ มีภัยใกล้ตัว
โทรสายด่วน 191 เพื่อเรียกตำรวจ
แจ้งให้ชัดเจนว่า ต้องการความช่วยเหลือ ที่ไหน อย่างไร ถ้าเป็นไปได้สอบถามเจ้าหน้าที่ปลายสายว่า จะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะมาถึง ถามชื่อเจ้าหน้าที่ให้แน่ใจ ปกติแล้วสายตรวจจะมาภายใน 5-10 นาที
โทรสายด่วน 1300 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งในปัจจุบันนอกจากมีหน้าที่ให้ข้อมูลแล้วยังมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ผู้รับสายต้องประสานงานให้มีการลงพื้นที่ด้วย
โทรสายด่วน 1669 ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน (เบอร์นี้จะต้องโทรโดยคนในจังหวัดเดียวกันกับผู้เสียหาย ไม่สามารถโทรข้ามจังหวัดได้)
โทรสายด่วน 1157 ปรึกษาปัญหากฎหมายสำนักงานอัยการสูงสุด
2. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยทั้งกายและใจของผู้เสียหาย : ที่แรกที่ควรไปคือโรงพยาบาล (ไม่ใช่สถานีตำรวจ)
เมื่อติดต่อโรงพยาบาล ให้ข้อมูลกับพยาบาลว่าเป็นเคสที่ต้องการความช่วยเหลือจากศูนย์พึ่งได้ One Stop Service Center (OSCC) ให้ผู้เสียหายได้ตรวจร่างกาย พบนักสังคมและนักจิตของโรงพยาบาล ควรมีบุคคลที่ไว้ใจอยู่ด้วยเสมอ ทั้งนี้สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมในระบบOSCC ของโรงพยาบาลได้ที่เบอร์ 1300
ทางร่างกายคุณหมอสามารถบันทึกบาดแผลที่เกิดขึ้น ในระบบOSCC ซึ่งเมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะต้องมาเอาใบนี้ (เรียกว่าใบชันสูตร)จากโรงพยาบาลไปประกอบสำนวน
3. รับฟังด้วยใจ ไม่ตัดสิน
คนที่จะช่วยผู้เสียหายได้มาก ตลอดการเดินทางออกจากวงจรความรุนแรง คือ ‘ผู้รับฟังที่ดี’การรับฟังที่ดีคือการฟังจริง ๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อตั้งคำถาม ไม่ใช่ฟังเพื่อคิดหาคำตอบ ไม่ใช่ฟังเพื่อตัดสิน แต่รับฟังเพื่อเป็นประจักษ์พยานกับความรู้สึก ความสับสน ความเจ็บปวด ความทุกข์ ของผู้ที่กำลังประสบปัญหา สิ่งนึงที่เราสามารถยืนยันกับผู้เสียหายได้ คือการยืนยันไม่ให้เขาโทษตัวเอง เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ
ผู้เสียหายจะโดนผู้ใช้ความรุนแรง (Abuser) โทษและทุบตีทางกายใจคำพูดมาตลอด เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยที่เขาจะนั่งโทษตัวเอง ทุบตีตัวเอง ซึ่งเพื่อนและคนใกล้ตัว ควรจะช่วยสะท้อนว่า 'นี่ไม่ใช่ความผิดของคุณ' ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผู้กระทำไม่มีสิทธิมาทำร้ายเขาทั้งสิ้น
4. หาข้อมูลผู้ให้คำปรึกษา หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง
คนใกล้ตัวควรช่วยหาทางเลือกต่าง ๆ อาจจะช่วยประสานหาเจ้าหน้าที่ที่มีทัศนคติที่ดีมาช่วยเสริม
ซึ่งหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่หลักคือ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) มีทุกจังหวัด มีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบกรณีความรุนแรง ฯ โดยเฉพาะ
นอกจากนี้สิ่งที่จะช่วยได้มาก ๆ คือการหานักสังคม นักจิต ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน ที่จะช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้เสียหายในช่วงนี้ได้
สามารถหาตำแหน่งที่ตั้งของสำนักงานภายใต้สังกัดกระทรวงพม. ได้ที่นี่
5. เอ็นจีโอ องค์กรไม่แสวงกำไร องค์กรสาธารณะประโยชน์ ใครช่วยเราได้บ้าง
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เบอร์ 02 513 2889
มีนักสังคมและมีทนายอาสา Facebook
มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
SHero Thailand Line ID @sherothailand
6. **กรณีผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 18ปี จะต้องเป็นเคสคุ้มครองเด็ก
สามารถโทร 1387 ขอคำปรึกษาจากสายเด็ก Childline
Twitter @Saidek1387
ติดต่อ
มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก Facebook
โทร 0-2412-1196, 0-2412-0739, 0-2864-1421
หน่วยงานราชการ สามารถติดต่อ พม. ในจังหวัด
7. ใช้หลัก Survivor-centredและให้อำนาจกลับคืนแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
ก่อนที่จะก้าวไปสเต็ปต่อไป ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ทุกเคสเขาอยากจะแจ้งตำรวจดำเนินคดีในทันที ในฐานะเพื่อนหรือคนใกล้ตัวของผู้เสียหายเราไม่ควรกดดันผู้เสียหาย (นอกจากว่าเป็นระยะฉุกเฉินอันตรายถึงชีวิต ต้องรีบแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หาทางพาผู้เสียหายออกจากจุดอันตรายทันทีและขอคุ้มครองสวัสดิภาพฉุกเฉินตามข้อ 10.) ในระยะที่ยังไม่ถึงขีดอันตราย เพื่อนหรือคนใกล้ตัวอาจจะต้องให้เวลาผู้เสียหายได้ตัดสินใจ ฟื้นฟูสภาพจิตใจ คอยรับฟังจนกว่าผู้เสียหายจะพร้อมดำเนินการหรือออกมาจากความสัมพันธ์ ทำได้โดยการให้ทางเลือกและให้อำนาจในการตัดสินใจกลับคืนสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ
เรื่องอำนาจสำคัญมาก ความรุนแรงระหว่างคู่รักเป็นความรุนแรงเชิงอำนาจ ผู้เสียหายจาก Domestic Violence มักถูกกดขี่ควบคุม ใช้อำนาจเหนือ ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกด้อยค่า ผู้กระทำอาจใช้คำพูดที่ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกกล่าวโทษตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการบังคับควบคุม Coercive Control) คนใกล้ตัวจึงต้องระวัง ไม่กดดันหรือใช้อำนาจเหนือผู้เสียหายซ้ำ เคารพพื้นที่และให้เวลาผู้เสียหายในการตัดสินใจ ร่วมรับฟังและวางแผนด้วยกัน
8. การแจ้งความ
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในคู่รัก ในครอบครัว จะใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ปี 2550 ซึ่งเป็นฉบับที่ยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิภาพครอบครัว ฯ ฉบับปี 62 ถูกพระราชกำหนดทำให้ระงับการบังคับใช้
เนื่องจากเป็นกรณีอาญา สามารถดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจได้ ในอดีตต้องแจ้งสน.หรือสภ.ที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีประกาศออกมาแล้วว่าแจ้งที่สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ทั้งสิ้น
9. บันทึกประจำวันไม่เท่ากับการเปิดคดี
หลายคนเข้าใจว่า เมื่อบันทึกประจำวันแล้ว ถือว่าคดีเริ่มเดินหน้าแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ บันทึกประจำวัน
- เพื่อเป็นหลักฐาน
- เพื่อการแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ
สองข้อนี้มีความแตกต่างกัน หากบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานเฉย ๆ ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่จะถือว่ายังไม่เป็นการแจ้งความ อายุความยังไม่หยุดเดิน (คดี DV อายุความเพียงสามเดือน)
หากต้องการให้เกิดการดำเนินคดี ต้องเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องว่าเรากำลังต้องการ ‘ร้องทุกข์กล่าวโทษ’ ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อเริ่มกระบวนการ
เมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ อายุความหยุดลงทันที
เมื่อไปที่สถานีตำรวจ เพื่อน คนใกล้ตัว หรือคนที่ผู้เสียหายไว้ใจควรไปด้วย จากประสบการณ์เรามีหลายเคสที่ไปสถานีแล้วถูกปฏิเสธไม่รับเรื่อง ความจริงแล้วตำรวจไม่สามารถปฏิเสธได้ เป็นหน้าที่ที่เขาต้องคุ้มครอง เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือในระยะแรกจึงต้องดูแลเสริมพลังทั้งด้านกาย สังคม และจิตใจ
ปัจจุบันขาดแคลนพนักงานสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัว ลักษณะการถาม การพูด สอบปากคำ อาจจะกระทบจิตใจผู้เสียหาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังและอธิบายเจ้าหน้าที่ ขอความร่วมมือให้สอบปากคำในพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้เสียหาย (กรณีผู้เยาว์ต่ำกว่า 18 ปี ควรสอบโดยมีนักจิตนักสังคมอยู่ด้วย ควรสอบโดยอัยการเพื่อลดการสัมภาษณ์ซ้ำ)
10. ขอคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว (Protection order/Restraining Order) สามารถขอด้วยตัวเองได้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัว
แบบฟอร์ม สามารถขอแบบธรรมดาและแบบฉุกเฉิน
สิ่งที่ต้องทำหลังจากได้คำสั่งมาแล้ว ควรเก็บสำเนาหลักฐานเอกสารไว้เสมอ*
นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อ ศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัว (Counseling Center for Victims and Families) ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โทร.02-2725202 ต่อ1207, 0805535970 เพื่อขอคำปรึกษาทางกฎหมายและขอให้ช่วยดำเนินการคุ้มครองผู้เสียหายและพยาน
การช่วยประเมินความปลอดภัยเบื้องต้น
ระบุทรัพยากรที่ผู้เสียหายมีอยู่ (คน เงิน วัสดุอุปกรณ์)
· คุณพอจะหนีไปไหนได้บ้าง ช่วยผู้เสียหายในการคิดหาสถานที่ปลอดภัยอย่างน้อยหนึ่งที่ที่ผู้เสียหายนั้นสามารถไปได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน ผู้เสียหายควรเตรียมสถานที่เอาไว้ล่วงหน้า
· คุณเชื่อใจใครบ้าง พยายามคิดถึงใครสักคน (เพื่อนบ้าน เพื่อน คนในครอบครัว องค์กร) ที่ผู้เสียหายเชื่อใจ เช่น พูดคุยเกี่ยวกับการส่งสัญญาณหาเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือได้ เพื่อให้เพื่อนวางวางแผนมาเป็นกลุ่มเมื่อได้เห็นสัญญาณนั้น
· คุณมีทรัพยากรทางการเงินที่ใดบ้าง ผู้เสียหายสามารถเก็บซ่อนเงินจากผู้ใช้ความรุนแรงหรือเก็บในที่ปลอดภัยที่จัดไว้ได้หรือไม่
· คุณมีทรัพยากรด้านวัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง มีวัสดุอุปกรณ์ชิ้นใดบ้างที่สามารถนำออกห่างจากผู้ใช้ความรุนแรงได้ มีชิ้นใดบางที่สามารถนำมาใช้ช่วยเหลือผู้เสียหายในกรณีที่ต้องการรายได้
หารือกับผู้เสียหายว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าจำเป็น/ตัดสินใจหนี[1] :
· ถ้าต้องหนี จะเอาอะไรไปด้วย เอกสารสำคัญ เช่น เอกสารแสดงตัวตนสำหรับผู้เสียหายและบุตร, เสื้อผ้า, อาหาร, และเงินพร้อมกับวิธีการพกพา
· ถ้าต้องหนี จะเกิดอะไรขึ้นกับบุตรของคุณ ถ้าผู้เสียหายมีบุตร บทบาทของบุตรในการหนีคืออะไร ผู้เสียหายเกือบทุกกรณีจะพาบุตรของตนหนีไปด้วย ผู้เสียหายจึงควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของบุตรและบุตรของตนสามารถแบกรับสถานการณ์ได้มากเพียงใด ถ้าบุตรจะไม่ไปด้วย การจัดการเพื่อการดูแลคืออะไร
· ใครจะตกอยู่ในอันตรายบ้างถ้าต้องหนี พิจารณาว่าผู้ใช้ความรุนแรงจะเอาความรุนแรงนั้นไปลงที่ผู้อื่นหลังจากที่ผู้เสียหายหนีไปหรือไม่
อ่านเพิ่มเติมเรื่องการวางSafety Plan เมื่อเกิดเหตุการณ์ในช่วงที่ต้องกักตัวได้ใน เพจชีโร่
[1] GBVIMS (2017). Interagency gender-based violence case management guidelines: providing care and case management services to gender-based violence survivors in humanitarian settings. 1st edition.
Commentaires