top of page
Search

สร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย โดยนโยบาย PSEAH

สร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย โดยนโยบายการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ การล่วงละเมิด และการคุกคามทางเพศ Prevention of Sexual Exploitation, Abuse and Harassment Policy - PSEAH


สังคมปัจจุบันเริ่มให้ความสนใจประเด็นการคุกคามทางเพศและตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและให้ความเคารพสำหรับทุกคนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม องค์กร สถาบัน ทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน อาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและการดำเนินการตามนโยบายการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ การล่วงละเมิด และการคุกคามทางเพศ หรือ Prevention of Sexual Exploitation, Abuse and Harassment Policy - PSEAH

นโยบาย PSEAH ครอบคลุมการจัดการและป้องกันการประพฤติมิชอบทางเพศภายในองค์กร ในบทความนี้ เราจะสำรวจองค์ประกอบที่สำคัญของนโยบาย PSEAH เหตุใดจึงมีความจำเป็น เป็นแนวทางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถานที่ทำงานของคุณ


เหตุใดคุณจึงต้องมีนโยบาย PSEAH?


  • การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

เป้าหมายหลักของนโยบาย PSEAH คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและให้ความเคารพภายในองค์กร เป็นการแสดงจุดยืนและส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิด และการคุกคามทางเพศจะไม่ได้รับการยอมรับ


  • ป้องกันการประพฤติมิชอบ

นโยบาย PSEAH มีการกำหนดอย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมที่คาดหวัง มาตรฐานทางจริยธรรม และหลักการที่บุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรควรปฏิบัติตาม แนวทางป้องกันนี้ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการแสวงประโยชน์ คุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ


  • การสนับสนุน Survivor

นโยบายนี้กำหนดกรอบการทำงานสำหรับการให้บริการสนับสนุนผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิด หรือการคุกคามทางเพศ ช่วยให้มั่นใจว่าผู้ประสบเหตุสามารถเข้าถึงคำปรึกษา การรักษาพยาบาล ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และได้รับการดูแลทางจิตใจ


  • ให้ผู้กระทำได้รับผลกระทบและรับผิดชอบ

นโยบาย PSEAH กำหนดขั้นตอนการดำเนินการสำหรับการสอบสวนเหตุการณ์ที่รายงานอย่างละเอียดอ่อน ตระหนักถึงความไม่เท่ากันทางอำนาจ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีคณะกรรมการตรวจสอบที่มีองค์ความรู้และเข้าใจความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ มีความโปร่งใส นอกจากนี้ยังสรุปผลที่ตามมาและการลงโทษทางวินัยสำหรับบุคคลที่พบว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการประพฤติมิชอบ


  • การเสริมสร้างความตระหนักรู้

การมีนโยบาย PSEAH ควรมาพร้อมกับการสร้างความตระหนักรู้และอบรมให้ความรู้แก่พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการป้องกัน การรายงาน และความสำคัญของการสร้างสถานที่ทำงานที่ให้ความเคารพ





องค์ประกอบสำคัญของนโยบาย PSEAH


  • คำชี้แจงนโยบาย

ข้อความที่ชัดเจนและกระชับซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรของคุณในการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิด และการคุกคามทางเพศ โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เคารพศักดิ์ศรีมนุษยชนและไม่เลือกปฏิบัติ


  • คำจำกัดความและขอบเขต

กำหนดคำนิยามอย่างชัดเจนสำหรับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การละเมิด และการคุกคามทางเพศภายในบริบทขององค์กรของคุณ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนมีความเข้าใจร่วมกัน ไม่สามารถหาข้ออ้างภายหลังว่าไม่ทราบว่าพฤติกรรมของตนเป็นการล่วงละเมิดผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า


  • มาตรการป้องกัน

มีหลักปฏิบัติ มีการฝึกอบรมและทบทวนองค์ความรู้และความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ และมีมาตรการเพื่อจัดการกับความไม่สมดุลของอำนาจและความไม่เท่าเทียมทางเพศภายในองค์กร


  • กลไกการรายงาน

ขั้นตอนโดยละเอียดในการรายงานเหตุการณ์ โดยเน้นการรักษาความลับและการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้อง


  • การสืบสวนและความรับผิดชอบ

ขั้นตอนสำหรับการสอบสวนอย่างเป็นกลางที่มีมาตรการยืนยันความไม่เท่าเทียมทางอำนาจและการกำหนดโทษและมาตรการวินิจฉัยที่ชัดเจนสำหรับบุคคลที่พบว่ามีส่วนรับผิดในการการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การละเมิด และการคุกคามทางเพศ


  • บริการสนับสนุน

มีข้อมูลให้ผู้เสียหายเกี่ยวกับช่องทางให้ความช่วยเหลือหรือการบริการสนับสนุน รวมถึงการสนับสนุนด้านจิตสังคม การให้คำปรึกษา และความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยภาคเอกชนและ/หรือภาครัฐ


  • ป้องกันการตอบโต้

นโยบาย PSEAH ควรมีมาตรการปกป้องบุคคลที่รายงานการประพฤติมิชอบจากการตอบโต้กลับโดยผู้กระทำหรือพวกพ้องของผู้กระทำ มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น

  • การตระหนักรู้และการสื่อสาร

แผนสำหรับการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อให้ความรู้แก่พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน


  • การติดตามและประเมินผล

กลไกในการติดตาม ประเมินผล และทบทวนประสิทธิผลของนโยบายเป็นระยะ ๆ


  • กรอบการปฏิบัติตามและกฎหมาย

สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกฎหมายในประเทศ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 16 ระบุห้ามนายจ้างล่วงเกินทางเพศ
“ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ระบุโทษการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ

“ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” นอกจากนี้ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืน อนาจาร ยังมีการระบุโทษในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9


การนำนโยบาย PSEAH ไปใช้ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม นโยบายนี้ไม่เพียงป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิด และการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ยังส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความเคารพ คำนึงถึงสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความรับผิดชอบ และความโปร่งใส โดยแต่ละองค์กรหรือสถาบันสามารถปรับใช้นโยบาย PSEAH ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะขององค์กรหรือสถาบันนั้น ๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างสถานที่ทำงานที่ทุกคนสามารถเจริญก้าวหน้าได้ โดยปราศจากวัฒนธรรมคุกคามทางเพศในที่ทำงาน


หากคุณเป็นผู้ประสบปัญหาการถูกละเมิดในที่ทำงาน สามารถติดต่อ สายด่วนกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน โทร 1546 หรือ สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สามารถให้คำปรึกษา รับเรื่องราวร้องทุกข์ได้เช่นเดียวกัน


อ้างอิง

United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR). (2018). Prevention and Response to Sexual and Gender-Based Violence.

InterAction. (2020). PSEA Guide: A Guide to Developing a PSEA Policy and Procedures for Your Organization.

United Nations. (2019). United Nations Secretary-General's Bulletin: Special Measures for Protection from Sexual Exploitation and Sexual Abuse.

Oxfam. (2021). Oxfam's Safeguarding Framework: Preventing Sexual Misconduct, Abuse, and Exploitation (PSMAE).


154 views0 comments
bottom of page