📍Warning: เนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
การฆ่าเพราะความเป็นหญิงหรือเด็กหญิง (Gender-related killings of women and girls) หรือที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดีในนามของ Femicide/Feminicide/อิตถีฆาต คือ อาชญากรรมร้ายแรงที่กล่าวอย่างกว้าง ๆ ได้ว่าเป็นการฆาตกรรมอันมีแรงจูงใจแฝงในการก่อเหตุ (underlying intent/motive) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของบริบททางเพศของความเป็นผู้หญิงหรือความเป็นเด็กหญิงอันได้แก่ การถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ (Sex Discrimination) การถูกทำให้เป็นทรัพย์สินของผู้ชาย/การมีอภิสิทธิ์เหนือผู้หญิงหรือเด็กหญิง หรือ การถูกทำให้เป็นเพศรองจากผู้ชาย (Male Dominance - Female Subordination) อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในสังคม ฯลฯ โดยสภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในสังคมที่โอบอุ้มปิตาธิปไตยหรือระบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) มาอย่างช้านาน
ท่ามกลางโครงสร้างชายเป็นใหญ่ ซึ่งสถาปนาให้เพศชายมีอำนาจเหนือกว่าเพศอื่นในสังคม สิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นตามมาคือความไม่เท่าเทียมทางเพศในหลายมิติ เช่น เศรษฐกิจและการเมือง การศึกษา ความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ และการวางกรอบและบริบททางสังคม เช่น บทบาททางเพศ (Stereotyped Gender Roles) ส่งผลให้กลุ่มเพศที่ถูกมองว่าเป็นรอง เช่น ลูกสาว หรือ ภรรยา (เพศหญิง) จะต้องเชื่อฟังและทำตามผู้เป็นพ่อ หรือ สามี (เพศชาย) ที่ถูกวางบริบทเอาไว้ให้เป็นหัวหน้าครอบครัว ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยังคงดำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมดังกล่าวตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายชายและหญิงจะเท่าเทียมกันก็ตาม
การมองว่าเพศหญิงเป็นทรัพย์สมบัติของเพศชายจึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่เป็นสิ่งที่สังคมยุคปัจจุบันจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมุมมองเช่นนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการฆ่า กล่าวคือเมื่อผู้หญิง (หรือเด็กหญิง) ประพฤติออกนอกกรอบที่สังคมชายเป็นใหญ่ได้วางเอาไว้ ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ก็จะถูกกระตุ้น ซึ่งเกิดขึ้นส่วนใหญ่จากผู้ชายเพศชาย ตั้งแต่ความรุนแรงในระดับการทำร้ายจิตใจและร่างกาย ไปจนถึงการฆ่าเอาชีวิต เช่น การฆ่าเพราะความหึงหวงในตัวของผู้หญิงประหนึ่งเธอเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของตน เมื่อเพศชายถูกหล่อหลอมด้วยความคิดชายเป็นใหญ่มาเป็นเวลานาน ความเป็นชาย (เช่น ความเป็นพ่อ ความเป็นสามี) จึงสั่งสมจนกลายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) และอาจส่งผลทำให้เกิดความคิดที่ว่าตนมีสิทธิจะทำอะไรก็ได้กับคนในอำนาจของตน (Female Subordination) ซึ่งในกรณีนี้ก็รวมถึงการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงเช่นกัน
นอกจากนี้สาเหตุในการฆ่านั้นสามารถพิจารณาแยกย่อยลงไปตามหลักจิตวิทยาและสภาวะทางสังคมอื่น ๆ อีก ได้แก่ การฆ่าเพราะเกลียดชังผู้หญิง (Misogynistic killing) เช่น โศกนาฎกรรมอันน่าสะพรึงที่รัฐมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในปี ค.ศ.1989 ที่ฆาตกรมีกลุ่มเป้าหมายในการฆ่าอย่างเฉพาะเจาะจง ได้แก่ เพศหญิง และกลุ่มคนที่เขาเข้าใจว่าเป็นเฟมินิสต์ (อยากชวนคิดเป็นข้อสังเกตสำหรับผู้อ่าน ว่าสังคมยังมีมายาคติที่เหมารวมว่า เป็นผู้หญิง = เป็นเฟมินิสต์) นอกจากนี้ การฆ่าเพราะเกลียดชังผู้หญิงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของการกราดยิง (Mass shooting) ดังที่เราเห็นในข่าวกราดยิงที่พารากอนเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงถึง 6 คน จากบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 คน
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากปัจจัยทางเพศ อิตถิฆาตสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่ทับซ้อนยิ่งกว่านั้นได้เช่นกัน อนึ่ง จากมุมของทฤษฎีอำนาจทับซ้อน (Intersectionality) เมื่ออัตลักษณ์ของบุคคลหนึ่งไม่ได้อยู่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง อัตลักษณ์อื่นที่ทับซ้อนกันอยู่นั้นจึงสามารถส่งผลต่อบริบททางเพศและก่อให้เกิดความรุนแรงในรูปแบบเฉพาะเจาะจงอื่นได้อีก เช่น Racist Femicide การฆ่าเพราะเป็นผู้หญิงผิวดำ Homophobic Femicide การฆ่าเพราะเป็นหญิงรักหญิง Transphobic Femicide การฆ่าเพราะเป็นหญิงข้ามเพศ นอกจากนี้ การฆ่าเด็กหญิง/การทำแท้งลูกสาว เพราะต้องการลูกชาย (Son Preference) ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ก็สามารถถูกตีความว่าเป็น Femicide ได้เช่นกัน (Radford, 1992a: 7)
แรงจูงใจ/สาเหตุอันหลากหลายในการลงมือฆาตกรรมผู้หญิงและเด็กหญิงในข้างต้นเหล่านี้ สามารถเป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันได้ว่าการกดทับที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงนั้น ไม่ได้ดำรงอยู่เพียงแค่บนปัจจัยการกดขี่ทางเพศ (Sexism) เสมอไป แต่ยังสามารถถูกกดทับในลักษณะที่ทับซ้อน (Intersectional) และยึดโยงกับปัจจัยอื่นในสังคม เช่น การเหยียดสีผิว (Racism) การเหยียดรสนิยมทางเพศ (Homophobic) การเกลียดชังคนข้ามเพศ (Transphobic) ฯลฯ ได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การพิจารณาปัจจัยหรือสาเหตุอันเกี่ยวข้องกับ Femicide จะไม่สามารถมุ่งพิจารณาไปที่แกนอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเดียวได้ แต่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายที่ทับซ้อนกัน (Intersectionality) ของสาเหตุในการเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงและเด็กหญิงต้องเจอในสังคมด้วยเช่นกัน
ประวัติของคำว่า Femicide:
คำว่า Femicide ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1976 โดย Diana Russell เธอมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้าง “ความตระหนัก” ถึงความรุนแรงทางเพศเกี่ยวกับการเสียชีวิตอย่างมีนัยยะสำคัญของ “ผู้หญิง” บนพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับบริบททางเพศ และเธอมีความต้องการที่จะสร้างความเฉพาะเจาะจงให้กับการกระทำในลักษณะนี้ ให้แยกออกมาจากคําว่า “ฆาตกรรม” (homicide) ที่มีลักษณะเป็นกลางทางเพศและปราศจากการพิจารณาถึงสาเหตุจริง ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ เช่น ความเกี่ยวข้องกับบริบททางเพศในสังคม กล่าวคือ เมื่อมีเหตุการณ์การฆ่าผู้หญิงเพราะความเป็นหญิงเกิดขึ้น คำว่าฆาตกรรมไม่สามารถสื่อถึงความรุนแรงทางเพศดังกล่าวได้อย่างครอบคลุมและลึกซึ้งมากเพียงพอ เพราะไม่ได้มีการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญถึงแรงจูงใจที่เกี่ยวข้องกับเพศ (gender) แต่อย่างใด ดังนั้น Russell (2015) จึงมองว่าเทคนิคที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นการต่อต้านความรุนแรงดังกล่าว คือการเริ่มต้นสร้างกลุ่มคำแยกออกมาจากคำว่า Homicide เพื่อเจาะจงให้เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายหลักและลักษณะของความรุนแรงนี้นั่นเอง
Femicide มักจะเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเป็นลำดับสุดท้ายหลังจากเกิดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอื่น ๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย หรือการทำร้ายทางจิตใจ (emotional abuse) ที่เคยเกิดขึ้นในความสัมพันธ์อีกด้วย ในปี 2022 ผู้หญิงและเด็กหญิงประมาณ 48,800 คนทั่วโลกถูกฆาตกรรมโดยบุคคลที่เธอมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น คนรัก หรือสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ (อย่างไรก็ตามข้อสังเกตนี้ไม่ได้จำกัดข้อเท็จจริงอื่นที่อาจเกิดขึ้น เช่น Femicide สามารถเกิดขึ้นจากคนแปลกหน้าได้เช่นกัน) จากสถิติดังกล่าว เราสามารถกล่าวโดยเฉลี่ยได้ว่า ผู้หญิงหรือเด็กหญิงมากกว่า 133 คนถูกฆาตกรรม “ทุกวัน” โดยคนรัก หรือแม้แต่คนในครอบครัวของพวกเธอเอง (UNODC, 2022) ข้อเท็จจริงทางสถิติเบื้องต้นยังพบต่อไปอีกว่า ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีอัตราสถิติของ Femicide เป็นอันดับหนึ่งของโลก ลองรงมาคือทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป และทวีปโอเชเนียตามลำดับ (UNODC, 2022)
ตัวอย่างความน่าสะพรึง/ข่าวเกี่ยวกับ Femicide ที่น่าสนใจทั่วมุมโลก:
ทวีป Africa
ทวีป America
ทวีป Europe
ทวีป Asia
หญิงสาวคนหนึ่งในเดลี ถูกฆ่ารัดคอและถูกแยกชิ้นส่วนร่างกายโดยคนรักที่อาศัยร่วมกันกับเธอ ชิ้นส่วนของเธอกระจัดกระจายไปทั่วเมืองหลวงด้วยน้ำมือของเขา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากการสังหารเด็กสาวอายุ 19 ปีในรัฐฌาร์ขัณฑ์ เธอถูกเผาจนตายบนเตียงโดยสตอล์กเกอร์ เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความโศกเศร้ามากมายและจุดประกายให้ผู้คนจํานวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนน
ประเทศไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศในลักษณะนี้เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพม. รายงานว่า “ปี 2565 ในไตรมาสแรกของปี จำนวนความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 667 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยผู้ถูกกระทำเป็นเพศหญิง 81.9% ยังไม่นับข้อมูลที่ไม่อาจสำรวจได้ หรือกรณีที่ผู้หญิงไม่กล้าเปิดเผยการถูกกระทำความรุนแรง จนนำไปสู่การบาดเจ็บ การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย และการถูกฆ่าตายในที่สุด”
ถึงแม้ว่าหลายภาคส่วนจะพยายามผลักดันให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหา ความรุนแรงทางเพศนี้มากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ปัจจุบันก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า Femicide เป็นสิ่งที่ยังไม่ถูกมองเห็นสังคมปิตาธิปไตยในไทย กล่าวคือ การฆ่าเพราะความเป็นหญิงหรือเด็กหญิงก็ยังคงถูกพิจารณาว่าเป็น Homicide และไม่ได้เจาะไปถึงปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งหากสังคมโดยรวมยังไม่สามารถทำลายปราการมายาคติหลายประการ เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเพศในทางความเป็นจริง (de facto) หรือ Stereotyped Gender Roles อันปรากฎอยู่ทั่วภูมิภาคได้ มายาคติเหล่านี้กำลังบดบังทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้ถึงความสำคัญและความร้ายแรงของความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่อย่างเงียบ ๆ
ผู้หญิงและเด็กหญิงสมควรได้รับความปลอดภัยในชีวิตอันเป็นสิทธิที่ไม่สามารถพรากไปจากพวกเขาได้ ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่เป็นตัวแปรหลักในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นในระดับระหว่างประเทศ ระดับท้องถิ่น หรือ ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และ NGOs เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากรากฐาน ไปสู่การออกเป็นนโยบาย ฯลฯ เพื่อทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโดยปราศจากความกลัว และสร้างความยั่งยืนให้กับการป้องกันการเกิด Femicide ในอนาคตสืบต่อไป
การสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในแต่ละรูปแบบ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ปราศจากความรุนแรง SHero Thailand ขอชวนทุกคนให้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เพื่อให้วัฒนธรรมเหล่านี้หมดไปในรุ่นของเรานอกจากการป้องกันปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้ พวกเรายังขับเคลื่อนกันอย่างเต็มที่เพื่อกลับมาเปิดให้คำปรึกษากฎหมายแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่มีประสิทธิภาพโดยเร็ว
สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของ SHero Thailand ในการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ตอนนี้ เราเปิดรับบริจาคอยู่ผ่านช่องทางเทใจ โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม และบริจาคได้ที่ https://taejai.com/th/d/shero_ot/
Reference
Corradi, C., Marcuello-Servós, C., Boira, S., & Weil, S. (2016). Theories of femicide and their significance for social research. Current Sociology, 64(7), 975–995. doi:10.1177/0011392115622256
Commenti