สิทธิศักดิ์ศรีสวัสดิภาพความปลอดภัยอยู่ที่ไหนในโลกของ “แรงงาน”
- sherothailand
- 5 hours ago
- 2 min read
ความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และทนไม่ได้อย่างเด็ดขาด
หากเราเป็นคนทำงาน เรามั่นใจหรือไม่ว่าที่ทำงานของเราตอนนี้ปลอดภัยจากความรุนแรงและการคุกคาม และคนทำงานอย่างพวกเราได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง?
ความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน คืออะไร?
ความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงานนั้น ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด รูปแบบของความรุนแรงและการคุกคามโดยทั่วไปแล้ว ไม่ได้มีแค่เฉพาะจากการใช้กำลังทางกาย แต่รวมถึงการใช้คำพูด สายตา ที่ส่งผลให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราอาจเคยรู้สึกไม่ปลอดภัยในระหว่างที่เดินทางไป-กลับที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างที่อยู่บนขนส่งสาธารณะ ฯลฯ รู้สึกเหมือนมีสายตาไม่ประสงค์ดีจับจ้องเราอยู่ บางคนอาจเคยถูกคุกคาม ถูกติดตามจากใครบางคนไปในที่ต่าง ๆ จนรู้สึกแพนิค เกิดบาดแผลทางจิตใจ หรือส่งผลกระทบเลวร้ายไปยิ่งกว่านั้น
ความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงานทำให้เราไม่มีทางเลือก เพราะความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าในสายงาน กลายเป็นตัวประกันให้คนทำงานต้องอดทน ทำให้ความรุนแรงและการคุกคามเหล่านี้ดำเนินต่อไป เราอาจจะเคยเป็นนักศึกษาฝึกงานหรือคนทำงาน อยู่ในที่ทำงานมีหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานที่ใช้อำนาจเหนือในเชิงคุกคาม ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือพฤติกรรม ใช้การข่มขู่ ด่าทอ ใช้กำลัง ใช้คำพูดที่ทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
องค์กรที่ปล่อยปละละเลย หรือมองไม่เห็นความปลอดภัยในที่ทำงานจนทำให้เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงานจะเกิดจากเหตุแห่งเพศ หรือการใช้อำนาจเหนืออื่น ๆ ในทางมิชอบก็ตาม สุดท้ายอาจส่งผลให้คนทำงานรู้สึกหมดแรง เจ็บปวด และไม่อยากไปทำงานในที่ที่ประสบความรุนแรงอีกแล้ว แต่ก็จำต้องอดทน ด้วยความที่ไม่มีทางเลือก องค์กรที่ปล่อยปละละเลย หรือมองไม่เห็นความปลอดภัยในที่ทำงานจนทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ถือเป็นการ ผลักภาระให้คนทำงานสะสมความเสี่ยงทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาว
แล้วในปัจจุบัน การคุ้มครองคนทำงานจากความรุนแรงและความปลอดภัยในที่ทำงานไม่ค่อยได้ผลเพราะอะไร?
กลไกภายในที่ทำงาน: การบังคับใช้มาตรการป้องกันความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ที่ทำงานไม่มีมาตรการและนโยบายในการดูแลคนทำงานที่ใช้หลักการ Zero telorance คือ การไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบในพื้นที่ทำงาน
กลไกการคุ้มครองแรงงาน: ซึ่งเกิดจากช่องว่างทางกฎหมาย และประกาศฯ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงาน เช่น การห้ามการล่วงละเมิดจากผู้มีอํานาจเหนือกว่าลูกจ้างต่อลูกจ้างเท่านั้น แต่ไม่ได้ห้ามลูกจ้างที่มีระดับทัดเทียม หรือ ลูกจ้างที่มีอำนาจน้อยกว่า การคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุมถึงนอกเวลาทำงาน การคุ้มครองที่ระบุแค่ลูกจ้าง ไม่ได้รวมถึงคนทำงานพาร์ไทม์ อาสาสมัคร ผู้สมัครงาน และผู้ฝึกงาน เป็นต้น
กระบวนการยุติธรรม: การเปิดช่องว่างให้มีการไกล่เกลี่ยในคดีเพศ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่อำนวยความสะดวกต่อคนทำงานที่เป็นผู้เสียหาย เนื่องจากคนทำงานที่เป็นผู้เสียหายต้องมาขึ้นศาลด้วยตนเอง ส่วนใหญ่มีปัญหาในการลางาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ที่ต้องดำเนินด้วยตนเอง จึงยอมจบเรื่องเพื่อให้คดีถึงที่สุดโดยเร็ว
หากเรากำลังรู้สึกว่า ตัวเราเอง เพื่อนร่วมงาน เพื่อน ครอบครัว แฟน หรือคนรู้จัก ต้องหาทางดูแลป้องกันตัวเองทุกครั้งจากความไม่ปลอดภัยในฐานะคนทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เราอาจกำลังเป็นหนึ่งในผู้เสียหายจากความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน วันนี้ SHero Thailand จึงอยากพาทุกคนมา ทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “ILO C190”
ILO C190 หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน เป็นอนุสัญญาที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยในชีวิตการทำงาน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตสังคมของคนทำงาน โดยครอบคลุมถึงความปลอดภัยและชีวอนามัย ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และการคุกความด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ
ILO C190 คุ้มครองใคร?
อนุสัญญาฉบับนี้คุ้มครองคนทำงานและบุคคลอื่นๆ ในโลกแห่งการทำงาน ซึ่งรวมถึง คนที่อยู่ระหว่างการฝึกอบรม ผู้ฝึกงาน ช่างฝึกหัด ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้าง อาสาสมัคร ผู้หางาน ผู้สมัครงาน เป็นต้น โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ อายุ ศาสนา เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ฯลฯ
ILO C190 คุ้มครองคนทำงานส่วนไหนบ้าง?
อนุสัญญาฉบับนี้จะถูกบังคับให้ใช้กับทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเศรษฐกิจในระบบและนอกระบบ ทั้งในเมืองหรือชนบท
ILO C190 คุ้มครองคนทำงานที่ไหนบ้าง?
ในสถานที่ทำงาน รวมถึงพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งเป็นสถานที่ทำงาน
ในสถานที่ที่มีการจ่ายเงินให้ลูกจ้าง สถานที่ที่ลูกจ้างพักผ่อนหรือพักรับประทานอาหาร หรือสถานที่สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สถานที่สำหรับจัดการสุขอนามัย ที่ซักล้างและเปลี่ยนเสื้อผ้า
ระหว่างการทัศนศึกษา การเดินทาง การฝึกอบรม งานกิจกรรมหรือกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวกับการทำงาน
ผ่านทางการติดต่อสื่อสารที่เกี่ยวกับการทำงาน รวมถึงที่ผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ในที่พักอาศัยที่ผู้ว่าจ้างจัดให้ และ
เมื่อเดินทางไปและกลับจากที่ทำงาน
สิ่งที่จะเดินขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO C190 แล้ว
ข้อกำหนดต่างๆ ในอนุสัญญา มีผลผูกพันการบังคับใช้ในกฎหมาย นโยบาย การประกันสิทธิ การคุ้มครอง การเยียวยา และการสนับสนุนผู้เสียหาย การป้องกันการถูกแก้แค้นจากผู้กระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม การปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหายและบุคคลที่เกี่ยวข้อง การรักษาความลับ การกำหนดบทลงโทษ การบังคับให้มีมาตรการและแนวการปฏิบัติการป้องกันความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงาน การพัฒนาเครื่องมือ แนวทาง การอบรม และการศึกษา ซึ่งจะถูกรวมถึงการบังคับใช้ในสถานศึกษาด้วย ในด้านการเรียนและการสอน
รัฐไทยจะต้องมีการติดตามและประเมินผลการบังคับใช้อนุสัญญาฯ ในกฎหมาย นโยบาย หรือ โครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยเคร่งครัด
เราสามารถเข้าร่วมในการผลักดันได้อย่างไร?
เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพในที่ทำงานของพวกเรา หากที่ทำงานเรายังไม่มีสหภาพ สามารถรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพและเข้าร่วมได้เลย
ติดต่อและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญการรณรงค์ของกลุ่มผู้ผลักดันรัฐบาลไทยในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO C190 ได้แก่ สหภาพแรงงานฯ UNI Global Union กลุ่ม Nurses Connect กลุ่มสหภาพคนทำงาน องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นนี้ เป็นต้น
แม้จะเป็นกลไกระหว่างประเทศที่สำคัญ แต่ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO C190 SHero Thailand จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสียงให้รัฐบาลไทย ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน เพื่อให้พวกเราทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง
มาร่วมกันสร้างความเข้าใจและความตระหนัก เพื่อร่วมมือกันต่อต้านความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน
ผู้เขียน: กิ๊ฟ อาสาสมัคร SHero
อ้างอิงและสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Comments