top of page
Search
  • sherothailand

ความรุนแรงแบบการบังคับควบคุม (coercive control)

What is coercive control? And the reasons why some people stay.


ความรุนแรงแบบการบังคับควบคุม (coercive control)

และเหตุผลว่าทำไมผู้ถูกกระทำถึงยังอยู่ในสัมพันธ์รุนแรงนี้


การบังคับควบคุม (coercive control) หมายถึงความรุนแรงในรูปแบบของพฤติกรรมที่ผู้กระทำ (Abuser) ใช้ในการควบคุม บงการชีวิตและจำกัดอิสรภาพของผู้ถูกกระทำ เช่น สอดส่อง ควบคุม จำกัดการสื่อสารกับคนรอบข้าง, ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครอบครัว, การใช้เงิน และอาจรวมถึงการทำร้ายร่างกายและจิตใจด้วย

อย่างไรก็ตาม การบังคับควบคุมนี้มีความซับซ้อนและยากต่อการสังเกตุมากกว่าบาดแผลที่เกิดจากการทำร้ายร่างกาย และความรุนแรงรูปแบบนี้มักจะเกิดในความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิด เช่น คู่รัก ผู้ปกครองกับบุตร


การบังคับควบคุมส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำ เช่น รู้สึกไม่มั่นคง ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ และตกอยู่ในสภาวะที่ต้องพึ่งพิงผู้กระทำในการดำรงชีวิต ศาสตราจารย์ Evan Stark นักสังคมสงเคราะห์และผู้เขียนหนังสือ 'Coercive Control' เทียบว่าการถูกบังคับควบคุมเปรียบเสมือนการถูกจับเป็นตัวประกัน เขากล่าวว่าเมื่อตกอยู่ในความสัมพันธ์รุนแรงรูปแบบนี้ “เหยื่อกลายเป็นเชลยในโลกจำลองซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้กระทำ ติดอยู่ในโลกแห่งความสับสน ความขัดแย้ง และความกลัว”


ลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นความรุนแรงแบบ ‘การบังคับควบคุม’


  • การตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกกระทำและบุคคลรอบข้าง เช่น เพื่อนและครอบครัว โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น พูดจาให้ร้ายสร้างความบาดหมาง หรือการตัดช่องทางสื่อสาร

  • จับจ้องและควบคุมการใช้ชีวิตของผู้ถูกกระทำ โดยการตามติดดูกิจวัตรประจำวัน บังคับให้รายงานการเคลื่อนไหวเสมอ หรือการสอดส่องช่องทางสื่อสาร เช่น Line, Facebook รวมไปถึงการกำหนดว่าผู้ถูกกระทำสามารถไปไหนหรือไปพบใครได้บ้าง แม้กระทั่งการกำหนดเวลาตื่นหรือนอน

  • ควบคุมและกีดกัดการเข้าถึงปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น เงิน อาหาร การเดินทาง ผู้ถูกกระทำมักจะถูกกำหนดว่าสามารถใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ควรหรือไม่ควรรับประทานอาหารใด ควบคุมการเดินทาง ไปจนถึงควบคุมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

  • ใช้คำพูดหรือพฤติกรรมที่กดให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไร้ค่า เช่น การด่าทอ ล้อเลียน โจมตีจุดที่ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่มั่นใจ เพิกเฉยต่อความต้องการและคำร้องขอของผู้ถูกกระทำ

  • การพูดจาท้าทายและข่มขู่ สร้างความรู้สึกหวาดกลัว ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าต้องระวังความประพฤติของตนตลอดเวลา

  • Gaslighting หรือการพยายามพูดจาโน้มน้าวให้ผู้ถูกกระทำสงสัยและสับสนในตัวเอง บิดเบือนประเด็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีเหตุมาจากความรักและความเป็นห่วง ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าเป็นความผิดของตน




เพราะเหตุใดผู้ถูกกระทำถึงยังอยู่ในความสัมพันธ์แบบ ‘การบังคับควบคุม’

  • ความโดดเดี่ยว (Isolation): ผู้กระทำมักจะตัดขาดผู้ถูกกระทำออกจากสังคมรอบข้าง เพื่อให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าตนไร้ที่พึ่ง ไม่เป็นที่ต้องการ และตกอยู่ในสภาวะที่จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้กระทำ โดยผู้กระทำมักจะควบคุมการติดต่อสื่อสารของผู้ถูกกระทำกับคนรอบข้าง บางรายถูกตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครอบครัวไปอย่างสิ้นเชิง หรืออาจมีการสร้างความบาดหมางอย่างรุนแรงจนไม่สามารถผสานความสัมพันธ์ได้ ส่งผลให้เมื่อเกิดความรุนแรง ผู้ถูกกระทำจะไม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างได้ เนื่องจากความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มั่นใจ รู้สึกว่าตัวคนเดียว ไร้ที่พึ่ง และเมื่อมีพร้อมจะทำการยื่นมือขอความช่วยเหลือก็ไม่สามารถติดต่อผู้คนรอบข้างได้เนื่องจากถูกตัดความสัมพันธ์และช่องทางการติดต่อ


  • ภาวะพึ่งพิงทางการเงิน (Economic dependence): ผู้ถูกกระทำมักจะถูกกีดกันการเข้าถึงการเงิน บางรายไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง หรือหน้าที่การงานและแหล่งที่มาของรายได้ถูกควบคุม ส่งผลให้การใช้เงินในการดำรงชีวิตถูกผูกไว้กับผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำจึงไม่สามารถออกจากความสัมพันธ์นี้ได้เนื่องจากขาดทรัพยากรในการดำรงชีวิต


  • การพึ่งพิงทางอารมณ์ (Emotional dependence): การอยู่ในความสัมพันธ์แบบถูกบังคับควบคุมมักจะทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำตกอยู่ในภาวะผูกติดด้านอารมณ์กับผู้กระทำ เนื่องจากถูกทำให้สับสนและสงสัยในตัวเองตลอดระยะเวลาที่อยู่ในความสัมพันธ์ จนรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง และต้องการการยอมรับสนับสนุนจากผู้กระทำอยู่เสมอ เช่น ผู้กระทำมักจะย้ำเสมอว่า 'ไม่มีใครรักเธอลงหรอกนอกจากฉัน' เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องและถูกทำให้รู้สึกไร้ค่าเป็นเวลานานทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกราวกับว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าและไม่มีทางเริ่มต้นใหม่ได้


  • วังวนความรุนแรง (A life of abuse): ผู้ถูกกระทำบางรายเติบโตและถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าความรุนแรงในรูปแบบการถูกบังคับกดดันเป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ หรือเป็นการแสดงความรักรูปแบบหนึ่ง


  • ค่านิยมของสังคม (Culture/ family pressures): แรงกดดันจากครอบครัวและสังคมเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้ถูกกระทำยังคงอยู่ในความสัมพันธ์รุนแรงที่ถูกบังคับกดดัน ผู้ถูกกระทำมักเล่าประสบการณ์ว่าพวกเขาตัดสินใจอยู่ในความสัมพันธ์นี้เพราะกลัวถูกมองว่าล้มเหลว บางรายรู้สึกว่าการรักษาความสัมพันธ์ไว้เป็นหน้าที่และกลัวว่าการออกจากความสัมพันธ์นี้จะเป็นความผิดของตนในการทำให้ครอบครัวแตกหัก นอกจากนี้ ในบางกรณี ผู้ถูกกระทำอาจจะอยู่ในสังคมที่เคร่งศาสนาหรือเติบโตในวัฒนธรรมที่รู้สึกว่าการแยกทางหรือหย่าร้างเป็นเรื่องผิด หรือไม่สามารถทำได้ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ



การออกจากความสัมพันธ์ที่รุนแรงนี้จะยิ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อผู้ถูกกระทำเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางต่อการเลือกปฎิบัติ เช่น บุคคลจากชุมชน LGBTQIAN+ ผู้ที่มีความทุพพลภาพหรือปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงผู้ที่มีความต้องการที่ซับซ้อน เช่น ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ใช้สารเสพติด บุคคลเร่ร่อน ที่มักจะพบการเลือกปฎิบัติจากสังคมที่ปิดกั้นและตีตราตัวตนและการใช้ชีวิตของพวกเขา ส่งผลให้เกิดความกลัวในการขอความช่วยเหลือ


การบังคับควบคุม เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมีรูปแบบและเป็นกระบวนการยาวนาน ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจบไปเป็นครั้งคราว ดังนั้นมักจะพบว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรงนี้ถูกทำให้คุ้นเคยจนส่งผลให้การรับรู้ถึงปัญหาและการพยายามออกจากความสัมพันธ์นั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ข้อมูลจาก The Women’s Community รายงานว่า


โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ถูกกระทำเพศหญิงจะตกอยู่ในวังวนการออกจากความสัมพันธ์และกลับเข้าไปอีกราวเจ็ดครั้ง จนกว่าจะสามารถจบความสัมพันธ์นั้นลงได้

เหตุผลเป็นเพราะผู้กระทำมักขอโทษและสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับควบคุมนั้นกลับมาโดยเชื่อว่าคำขอโทษนั้นจริงใจ หรือในบางกรณี การทิ้งผู้กระทำไม่ใช่เป้าหมายสำหรับผู้ถูกกระทำ พวกเขาไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์นั้นจบลง เพียงต้องการให้การบังคับควบคุมสุดลงเท่านั้น การหนีออกไปแต่ละครั้งจึงเป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยความหวังว่าจะจบความรุนแรงในรูปแบบนั้นได้



การบังคับควบคุม (coercive control) เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกกระทำสูญเสียพลังและอำนาจภายในตนเอง อันเป็นสาเหตุให้การต่อสู้เพื่อออกจากความสัมพันธ์รุนแรงนี้มีความลำบากและซับซ้อนซึ่งต้องการแรงสนับสนุนอย่างมาก


-------------------------------------------

หากต้องการคำปรึกษาและความช่วยเหลือกรณีความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ สามารถเข้ามาพูดคุยกับทีมนักกฎหมายและทนายความอาสา ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิง องค์กรชีโร่ Line Official Account ไอดี @sherothailand


อ้างอิง

https://www.healthline.com/health/coercive-control#gaslighting


1,304 views0 comments

Comentários


bottom of page