top of page
Search

“สถานศึกษาไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย” ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัยที่ไม่เคยถูกแก้ไขอย่างแท้จริง

“สถานศึกษาไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย” เป็นหนึ่งในถ้อยคำทีปรากฏให้เห็นบ่อยมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นสื่อออนไลน์ ประเด็นความรุนแรงทางเพศหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นในสถานศึกษาที่สมควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่ถูกนำมาตีแผ่ในช่วงหลายเดือนมานี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความฉาบฉวยของประโยค “สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย” ที่สถาบันและภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมรณรงค์มานานหลายปี แต่สะท้อนให้เห็นการขาดความเข้าใจในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและความรุนแรงทางเพศ

การล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคามทางเพศเป็นเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน แต่การล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษากลับถูกปูพรมทับด้วยข้ออ้างเพื่อปกป้อง “ภาพลักษณ์ของสถาบัน” และในขณะเดียวกัน ผู้ประสบความรุนแรงทางเพศก็ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการคุ้มครองและเยียวยาได้ เนื่องจากสถานศึกษาไม่มีมาตรการในการจัดการผู้กระทำที่เหมาะสม ซ้ำร้ายทัศนคติของบุคลากร เจ้าหน้าที่และผู้คนในสังคมสถานศึกษาที่ส่งเสริมวัฒนธรรมข่มขืน (rape culture) อันได้แก่สภาพสังคมที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงทางเพศและกล่าวโทษผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ เช่น กล่าวโทษการต่งกายของผู้ถูกกระทำ ปล่อยให้ผู้คุกคามทางเพศลอยนวลพ้นผิด ฯลฯ ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยที่กระทำซ้ำความรุนแรงกับผู้ถูกกระทำซึ่งทำให้ผู้ถูกกระทำลำบากใจที่จะเปิดเผยเรื่องราว เข้ารับการเยียวยา หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ปัจจัยสำคัญที่แยกความรุนแรงทางเพศออกจากกิจกรรมทางเพศคือ “ความยินยอม (Consent)” อันเป็นข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศทุกฝ่ายเกี่ยวกับรายละเอียดและขอบเขตของกิจกรรมทางเพศที่แต่ละฝ่ายสมัครใจจะทำด้วยความมั่นใจและปราศจากแรงกดดัน กล่าวคือหากปราศจากความยินยอมพร้อมใจของผู้เข้าร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว กิจกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นถือเป็นความรุนแรงทางเพศทันที ความยินยอมพร้อมใจทางเพศ (Sexual Consent) ต้องถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนและเป็นอิสระ (Freely Given) ความเงียบหรือความลังเลไม่สามารถถือว่าเป็นความยินยอมได้ ความยินยอมต้องเกิดจากความสมัครใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้ออย่างแท้จริงโดยปราศจากอิทธิพลของสารหรือสภาวะทางอารมณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจ การข่มขู่ใช้กำลัง หรือการบังคับข่มขู่หรือตะล่อม (Coercion) ในทุกรูปแบบ ผู้มีส่วนร่วมต้องได้รับข้อมูลรายละเอียดของกิจกรรมที่เกิดขึ้นและให้ความยินยอมในทุกขั้นตอน (Informed) โดยความยินยอมนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะถูกถอนเมื่อใดก็ได้ (Reversible) และการยินยอมครั้งหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงการยินยอมในครั้งต่อ ๆไปด้วย (Specific) นอกจากนี้ ความยินยอมที่สมบูรณ์ต้องคำนึงถึงความสามารถในการตัดสินใจให้การยินยอมของบุคคลด้วย ผู้เยาว์หรือผู้ที่ไม่สามารถตัดสินใจ รวมถึงรับรู้รายละเอียดและผลกระทบของกิจกรรมทางเพศได้เองโดยสมบูรณ์ เช่น คนที่เมาสุรา คนหมดสติ ผู้ป่วยโรคจิตเภท ฯลฯ ถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้

ความรุนแรงทางเพศไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระทำทางกายภาพเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการกระทำทางเพศในทุกรูปแบบที่ปราศจากความยินยอม ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือทางออนไลน์ ตัวอย่างเช่น การแซว (Catcalling), การบังคับให้ร้องเพลงที่มีเนื้อหาทางเพศขณะรับน้อง, การแอบถ่าย, การโพสรูปพร้อมข้อความคุกคามทางเพศ ก็ถือเป็นความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ในความสัมพันธ์คู่รักหรือคู่สมรส ก็สามารถเกิดความรุนแรงทางเพศได้เช่นกัน ความรุนแรงต่อคนรัก (Intimate partner violence) และความรุนแรงในครอบครัว (Domestic violence) ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญในสังคมเนื่องจากมักถูกผลักให้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ที่มีร่วมกันไม่ได้ลดทอนความรุนแรงที่เกิดต่ออีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด และผู้ถูกกระทำมีสิทธิทุกประการในการดำเนินการตามกฎหมายไม่จำเป็นต้องยอมความหรือไกล่เกลี่ยหากไม่ต้องการ


ความรุนแรงทางเพศสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual abuse) คือกิจกรรมทางเพศที่ปราศจากความยินยอมพร้อมใจที่ผู้กระทำกระทำแก่บุคคลอื่นโดยที่บุคคลนั้นไม่ต้องการ ถูกบังคับ หรือกระทำขณะที่บุคคลนั้นไม่สามารถให้ความยินยอมได้ เช่น การข่มขืน (Rape) การเผยแพร่คลิปอนาจารโดยปราศจากความยินยอม

  2. การแสวงผลประโยชน์ทางเพศ (Sexual exploitation) คือการกดดันข่มขู่ให้ผู้ถูกกระทำตอบสนองความต้องการทางเพศ โดยใช้ความปลอดภัยหรือความมั่นคงในชีวิต เช่น หน้าที่ สวัสดิการ เป็นเครื่องมือต่อรอง อย่างไรก็ดี การแสวงประโยชฯทางเพศอาจนับได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

  3. การคุกคามทางเพศ (Sexual harassment) คือการเข้าหาซึ่งมีนัยยะทางเพศอันไม่พึงประสงค์ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่สบายใจ เช่น การเล่นมุกสองแง่สองง่าม การผิวปากแซว การคอมเมนต์ลวนลามทางออนไลน์ การสตอล์ก (stalking) โดยการตัดสินว่าพฤติกรรมใดเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่นั้นต้องวัดจากความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เจตนาของผู้กระทำ

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายของประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณีความผิดทางเพศ แต่คงไม่มีการบัญญัตินิยามการล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคามทางเพศที่ครอบคลุมชัดเจน ยังมีช่องว่างในมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกระทำและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาอยู่มาก


วัฒนธรรมอำนาจกดขี่แบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ (Victim blaming culture) ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำ ทำให้ผู้ถูกกระทำจำนวนมากจึงรู้สึกไม่ปลอดภัย โทษตัวเอง และไม่กล้าที่จะออกมาบอกเล่าเรื่องราวของตนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกกระทำติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ (Abusive relationship) มาเป็นเวลานานเนื่องจากถูกผู้ใช้ความรุนแรงใช้อำนาจเหนือครอบงำ หรือมีลักษณะไม่ตรงกับ “ผู้ถูกกระทำที่สมบูรณ์แบบ(Perfect Victim)” ตามที่สังคมคาดหวัง [อ่าน ในโลกนี้ไม่มี “เหยื่อในอุดมคติ”และ I was not a perfect victim ไม่มีผู้ถูกกระทำโดยสมบูรณ์แบบ] สังคมต้องทำความเข้าใจและตระหนักว่า ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศรูปแบบใดก็ตาม เป็นอาชญากรรมและเป็นความผิดของผู้กระทำ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่บทลงโทษหรือโชคชะตาที่ผู้ถูกกระทำสมควรต้องพบเจอ ผู้ถูกกระทำไม่มีหน้าที่ต้องให้อภัยหรือเห็นใจผู้กระทำ ไม่ว่าผู้กระทำจะมีอดีตแบบใดหรือผ่านความรุนแรงในรูปแบบใดมาก่อนก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างความชอบธรรมในการส่งต่อความรุนแรงแก่ผู้อื่น

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศขึ้น คือความต้องการและความปลอดภัยของผู้ถูกกระทำ ผู้ถูกกระทำต้องสามารถได้รับการคุ้มครองโดยมีระบบสนับสนุนเยียวยา (Support system) ที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้ถูกกระทำมีสิทธิปฎิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาหากผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ปลอดภัย เนื่องจากทัศนคติโทษเหยื่อยังมีให้เห็นในบรรดาผู้บังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไขและออกแบบระบบที่ผู้ถูกกระทำรู้สึกปลอดภัยในการเปิดเผยเรื่องราวและดำเนินการ การเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกระทำเลือกที่จะปล่อยให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิด แต่สะท้อนให้เห็นถึงจุดบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมที่โครงสร้างของระบบยุติธรรมก็ไม่ได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำ มักมีการชังจูงให้ผู้ถูกกระทำไกล่เกลี่ยยอมความนอกกระบวนการ ทำให้ผู้ถูกกระทำจำนวนมากถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และขาดผลลัพธ์ที่สามารถเยียวยาผู้ถูกกระทำได้ อีกทั้งกฎหมายของไทยที่ยังไม่ได้บัญญัติความผิดที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศได้อย่างครอบคลุมเพียงพอทำให้ความรุนแรงทางเพศอีกหลายรูปแบบไม่สามารถนำมาเอาผิดได้ เช่นการกดขี่ควบคุม (Coercive control) คุกคามทางเพศทางออนไลน์ เป็นต้น

มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่จะต้องผลักดันให้เกิดมาตรการแก้ไขป้องกันและคุ้มครองผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ โดยต้องมีการให้ความรู้แก่นักศึกษา บุคลากร และสังคม เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศที่คำนึงถึงอัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อน สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยในสถาบันทั้งด้านกายภาพและทางจิตใจ สร้างระบบคุ้มครองสนับสนุนสำหรับผู้ถูกกระทำ (Support system) โดยยึดความต้องการของผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง (Survivor-centered) ลดทัศนคติการโทษเหยื่อและตีตราผู้ถูกกระทำ จัดทำนโยบายที่เหมาะสมในการจัดการกับผู้กระทำเพื่อยับยั้งป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นซ้ำ


1,038 views0 comments
bottom of page