top of page
Search

ในโลกนี้ ไม่มี "เหยื่อในอุดมคติ" (Perfect Victim)

Updated: Jun 4, 2021


Gender-based Violence is the only crime in which the victim becomes the accused.

ในสังคมที่เราอาศัยอยู่ เมื่อพูดถึงผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ สิ่งแรกที่ผู้คนทั่วไปนึกถึงคงเป็น ภาพของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศที่ร้องไห้จนตาแดง อ่อนแอ หวาดกลัว ตัวสั่นเทา โทษตัวเอง จิตตก กอดตัวเองอยู่กับพื้น สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของมายาคติเหยื่อในอุดมคติ (Perfect Victim) ที่สังคมคาดหวังปฏิกิริยาของผู้ที่ผ่านความรุนแรงทางเพศต้องแสดงออก สถาบันสังคมรอบตัว ครอบครัว ชุมชน ระบบสาธารณะสุข ระบบกฎหมาย ตำรวจ หรือแม้กระทั่งศาลคาดหวังให้ผู้ผ่านความรุนแรงทางเพศจะต้องแสดงออกและกระทำในลักษณะที่เป็น “เหยื่อ” การแสดงออกเหล่านี้ตัดสินผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ ที่การแสดงออกของพวกเขา เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่ผู้ถูกกระทำได้รับ เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่ประสบความรุนแรงทางเพศนั้นสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง และผลิตซ้ำวัฒนธรรมข่มขืน (Rape culture) ให้คงอยู่ในสังคมต่อไป


นีล คริสตี้ นักสังคมวิทยาและนักอาชญาวิทยาชาวนอร์เวย์ ได้กล่าวถึงลักษณะของเหยื่อในอุดมคติว่า

1. ผู้ถูกกระทำต้องอ่อนแอ (เป็นผู้หญิงหรือผู้สูงอายุ)

2. ผู้ถูกกระทำต้องทำอาชีพหรืองานที่ได้รับการยอมรับในสังคม

3. สถานที่ที่ผู้ถูกกระทำอยู่ต้องไม่เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงและสามารถนำมาใช้ตำหนิได้ทีหลัง เช่น อยู่ที่กลางถนนในตอนกลางวัน

4. ผู้กระทำต้องมีอำนาจและเป็นคนไม่ดี

5. ผู้กระทำต้องไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ถูกกระทำ


คุณลักษณะดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานโลกยุติธรรม (just-world fallacy) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของอคติทางความคิด (cognitive bias) ที่เชื่อว่าการกระทำของบุคคลหนึ่งๆ มีแนวโน้มที่จะนำผลที่ยุติธรรมโดยศีลธรรมและเหมาะสมมายังบุคคลนั้นๆ กล่าวคือคุณได้รับสิ่งที่ “สมควรได้รับ” (You got what was coming to you) เช่นเมื่อผู้ถูกกระทำไม่ได้มีคุณลักษณะข้างต้น ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำนั้นถือว่า “สมควรได้รับแล้ว” มายาคตินี้ส่งผลต่อการแสดงออกของสังคมต่อผู้ถูกกระทำ และส่งผลในแง่ของกระบวนการทางกฎหมายด้วยเช่นกัน ในกระบวนการทางกฎหมายของคดีความที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศหรือเมื่อผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศพยายามบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอให้สังคมได้รู้ ประวัติเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศของพวกเธอมักถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้ความรุนแรงที่เกิดกับพวกเธอนั้นเป็นโมฆะ การแต่งตัวและวิธีการใช้ชีวิตของพวกเธอถูกยกขึ้นมาเพื่อกล่าวโทษว่า ความรุนแรงที่พวกเธอเผชิญนั้นมีต้นเหตุมาจากตัวพวกเธอเอง ยกตัวอย่างเช่น


  • ในการพิจารณาคดีของบิล คอสบี้ ดาราตลกชื่อดังของอเมริกาที่วางยาและข่มขืน เจนิส ดิกคินสัน นางแบบสาว ทนายความของ บิลกล่าวในการพิจารณาคดีว่า “it sounds as if she slept with almost every single man on the planet” (มันเหมือนกับว่าเธอก็นอนกับผู้ชายทุกคนบนโลกนี้แล้ว)

  • ในประเทศอิตาลี ผู้พิพากษายกเลิกข้อกล่าวกับชายวัย 46 ที่ได้รับการกล่าวหาว่ากระทำชำเราเพื่อนร่วมงานผู้หญิง เพียงเพราะผู้หญิงไม่ได้กรีดร้องระหว่างที่ถูกกระทำชำเรา

  • ในอังกฤษ ทนายความของผู้ต้องหาคดีข่มขืนได้บอกกับศาลว่า ผู้ผ่านความรุนแรงทางเพศที่ฆ่าตัวตายหลังจากถูกข่มขืนนั้น ไม่ได้เศร้าและสูญเสีย “ขนาดนั้น” เนื่องจากเธอโพสต์รูปยิ้มบนเฟสบุ๊ค

  • ในมาเลเซีย นักบินที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนแอร์โฮสเตส ได้ให้การว่าเธอทำตัว “ปกติและยังมีความสุขดี”จึงไม่ถือว่าเป็นการข่มขืน


สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของมายาคติเหยื่อในอุดมคติ บางประเทศยกตัวอย่างเช่นแคนาดาและนิวซีแลนด์มีการบังคับใช้กฎหมาย Rape Shield Law ที่ห้ามไม่ให้ใช้หลักฐานหรือนำข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและอดีตของผู้ร้องเรียนในคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศมาใช้ในกระบวนการในชั้นศาล อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในโลก และในทางปฎิบัติกฎหมายนี้ไม่สามารถห้ามไม่ให้คนในสังคมขุดคุ้ยเรื่องราวหรือกล่าวโทษเหยื่อได้ มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เราเห็นได้ชัดว่าสื่อมีส่วนในการสร้างซ้ำภาพจำของเหยื่อในอุดมคติ



เมื่อพูดถึงความรุนแรงทางเพศหรือแม้กระทั่งการรณรงค์เรื่องความรุนแรงทางเพศ สื่อหรือบางครั้งแม้กระทั่งองค์กรที่เกี่ยวข้องมักจะนำเสนอรูปของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศที่สิ้นหวัง พยายามหนีหรือมีบาดแผลทางร่างกายและจิตใจที่ชัดเจน ซึ่งทำให้สังคมจำภาพเหล่านั้นและสร้างความคาดหวังให้ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศต้องแสดงออกตามนั้นเมื่อเผชิญความรุนแรงทางเพศ การที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศไม่พยายามหนี กรีดร้องหรือร้องไห้ระหว่างที่ประสบความความรุนแรงทางเพศ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่สังคมและผู้กระทำใช้อ้างความชอบธรรมในการกระทำความรุนแรง สิ่งนี้กลายเป็นหลักฐานว่าพวกเธอเหล่านั้นยินยอม ทั้งนี้หลังจากที่ประสบความรุนแรงทางเพศแล้ว หากผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศไม่แสดงอาการที่อ่อนแอหรือสิ้นหวัง ความรุนแรงที่เธอประสบมานั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ “ไม่ใช่เรื่องใหญ่” ในสายตาคนในสังคมทันที มายาคติเหยื่อในอุดมคตินี้เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่า


ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศจำนวนมากมักเข้าสู่ปฏิกิริยา “สู้ หรือ หนี หรือ หยุดเกร็ง” (“fight or flight or freeze”) ทำให้ไม่สามารถตอบสนองในรูปแบบที่สังคมคาดหวังว่าพวกเธอควรจะตอบสนอง

สิ่งเหล่านี้เป็นการกล่าวโทษเหยื่อ (victim blaming) และสร้างความชอบธรรมให้กับอาชญากรตัวจริง ด้วยการให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาของเหยื่อ อัตลักษณ์ ชุดที่ใส่หรือแม้กระทั่งภูมิหลังของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ มายาคตินี้ทำให้คดีความล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงทางเพศใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อสอบสวนและดำเนินคดีนาน ซึ่งส่งผลให้ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศมากมายรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมได้ และรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้กระทำความผิดเสียเองซึ่งทำให้เมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศจึงมักเลือกที่ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้คนในสังคมเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่พวกเธอได้รับ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศบางกลุ่มคิดว่าความรุนแรงที่พวกเธอได้เผชิญนั้นเป็นสิ่งที่พวกเธอ “สมควรโดน” ยกตัวอย่างเช่นผู้ให้บริการทางเพศที่ถูกผลักให้อยู่กับความคิดที่ว่า ความรุนแรงทางเพศนั้นเป็นสิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ในสายอาชีพของพวกเธอ


สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือเพียงเพราะผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศไม่กรีดร้อง ร้องไห้ สั่นกลัวหรือแสดงท่าทีที่อ่อนแอ นั่นไม่ได้หมายความความรุนแรงทางเพศนั้นไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่ได้หมายความว่าพวกเธอยินดีกับความรุนแรงเหล่านั้น หากพวกเธอไม่พูด นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอเชื้อเชิญให้ความรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง และหากพวกเธอก้าวออกมาต่อสู้เพื่อตัวของพวกเธอเองมันไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่พวกเธอเผชิญไม่ได้ทำให้พวกเธอแตกสลาย พวกเธอมีสิทธิในการแสดงออกอย่างไรก็ได้ มีสิทธิเลือกที่จะดำเนินการอย่างไรก็ได้ต่อความรุนแรงที่เธอเผชิญ


ในโลกนี้ไม่มี “เหยื่อในอุดมคติ” มีเพียงแต่วัฒนธรรมข่มขืนและการกล่าวโทษเหยื่อเท่านั้น (There is no perfect victim, but Rape culture and victim blaming)


Written by Nudchanard k.

Edited by Busayapa S.


*ที่ผ่านมา SHero Thailand ใช้คำว่าผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบ โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า'เหยื่อ' แต่ในบทความนี้เป็นการแปลคำจากฐานคิดทฤษฎี เราจึงใช้บางคำเพื่อจุดประสงค์ในการสะท้อนปัญหามายาคติเท่านั้น

. ปรึกษาปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและติดตามเราได้ที่

Facebook/Twitter/Instagram @Sherothailand www.sherothailand.org




1,114 views0 comments
bottom of page