ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic relationship) ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อทั้งร่างกาย หรือจิตใจ หรือทั้งสองอย่างนั้น เป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน และสำหรับผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ต้องใช้พลังอย่างมากในการออกมา ความรุนแรงในความสัมพันธ์เกิดขึ้นจากอำนาจที่ไม่เท่ากันและความต้องการที่จะควบคุมอีกฝ่าย ซึ่งอำนาจเหล่านี้มีที่มาได้หลากหลาย เช่น เพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ หน้าที่การงาน การศึกษา ช่วงวัย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่า และในหลายครั้ง ก็ใช้อำนาจในทางที่บังคับ ควบคุมอีกฝ่าย ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
เมื่อผู้ถูกกระทำต้องการออกจากความสัมพันธ์ ในสายตาของผู้กระทำจึงเป็นการท้าทายต่ออำนาจของตนซึ่งส่งผลให้พวกเขาหาทางตอบโต้เพื่อคงสถานะเดิมที่ตัวเองมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายได้ และทำให้การออกจากความสัมพันธ์ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย
นอกจากความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายร่างกายแล้ว ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ยังต้องเผชิญกับปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ไม่สามารถออกจากวงจรความรุนแรงได้ ตัวอย่างเช่น
ครอบครัวและสังคมบอกเราว่าความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเป็นเรื่องปกติ เมื่อสังคม สื่อ หรือแม้แต่ครอบครัวบอกกับเราว่าสัญญาณของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เช่น การขึ้นเสียง การทำร้ายร่างกายและจิตใจ การบังคับควบคุม (Coercive control) คือ ‘เรื่องปกติ’ ในความสัมพันธ์ ที่เราควร ‘อดทน’ ภาพจำเหล่านี้ยิ่งทำให้เราแยกแยะความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและความสัมพันธ์ที่ดีได้ยากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งเหล่านี้ยิ่งผลิตซ้ำและให้ความชอบธรรมกับผู้กระทำและการใช้ความรุนแรงว่าเป็นสิ่งที่ทำได้และเป็นปกติในสังคม
ความรุนแรงทางจิตใจส่งผลต่อความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตนเองซึ่งทำให้การออกจากความสัมพันธ์ยิ่งยากขึ้นไปอีก ในหลายครั้ง ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอาจไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเพียงเพราะไม่มีการลงไม้ลงมือ ใช้ความรุนแรงทางร่างกาย แต่ที่จริงแล้ว การใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจ การลดทอนความรู้สึก การโดดเดี่ยวผู้ถูกกระทำไม่ให้ติดต่อคนภายนอก ก็นับว่าเป็นความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำไม่แพ้ความรุนแรงทางร่างกายเลยทีเดียว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจและไม่สามารถเห็นคุณค่าของตนเองได้เหมือนเมื่อก่อน และอาจรู้สึกว่ามองไม่เห็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้กระทำได้ใช้วิธีต่างๆ เพื่อลดทอนความรู้สึก และประสบการณ์ของอีกฝ่าย
การข่มขู่ ผู้ถูกกระทำอาจถูกข่มขู่ให้ต้องอยู่ในความสัมพันธ์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นจากการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย หรือทางวาจา ข่มขู่ว่าจะทำร้ายตนเอง ทำร้ายสัตว์เลี้ยงหรือคนที่เรารัก เช่น ลูก รวมไปถึงการขู่ว่าจะเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว หรือภาพ/วิดิโอวาบหวิวที่ไม่ได้รับความยินยอมให้เผยแพร่ต่ออย่าง Revenge Porn ที่ผู้กระทำต้องการสร้างความอับอายหรือเพื่อเอาคืนผู้ที่เคยอยู่ในความสัมพันธ์ด้วยกันผ่านการเผยแพร่ภาพส่วนตัว
ผู้ใช้ความรุนแรงทำให้อีกฝ่ายคิดว่าตนเองมีส่วนรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้กระทำมักพยายามทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดราวกับว่าตัวเองเป็นต้นเหตุหรือเป็นผู้ที่ทำให้อีกฝ่ายโกรธจนต้องใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรงทางร่างกายหรือการทำร้ายจิตใจก็ตาม ซึ่งการกล่าวโทษลักษณะนี้จะยิ่งทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าตัวเองคือต้นตอของปัญหา และทางออกของเรื่องนี้คือการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใช้ความรุนแรงต่างหากที่เป็นผู้กระทำผิด ซึ่งสิ่งนี้เป็นเพียงอีกหนึ่งกลวิธีที่ผู้กระทำใช้เพื่อต้องการควบคุมอีกฝ่าย
การควบคุมผ่านอำนาจทางเศรษฐกิจ ในหลายกรณี ผู้ใช้ความรุนแรงต้องการกุมอำนาจไว้ที่ตัวเองให้มากที่สุด โดยหนึ่งในวิธีนั้นคือการควบคุมเรื่องรายได้ และการใช้จ่ายของอีกฝ่าย เช่น บังคับให้ออกจากงานเพื่อดูแลครอบครัวและสัญญาว่าจะให้เงินใช้ ซึ่งวิธีเหล่านี้ทำให้อีกฝ่ายต้องทนอยู่ในความสัมพันธ์เพราะต้องพึ่งพารายได้จากอีกฝ่าย และทำให้การออกจากความสัมพันธ์ทำได้ยากขึ้น
การพึ่งพาอีกฝ่าย การพึ่งพาอาศัยระหว่างผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องจำทนอยู่ในสภาพนี้ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่เพื่อ’ครอบครัว’ เพื่อ ‘ลูก’ และถ้าหากฝ่ายหนึ่งต้องพึ่งพาอีกฝ่ายในเรื่องความเป็นอยู่ อย่างในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีความพิการ ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกว่าชีวิตของตนเองผูกติดกับความสัมพันธ์นี้ และไม่สามารถออกมาได้ การขาดทางเลือกอื่นๆ เช่น ความช่วยเหลือจากรัฐก็จะยิ่งทำให้การตัดสินใจที่จะออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น
การกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ ในบางครั้ง ผู้ถูกกระทำในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอาจไม่กล้าออกมาบอกว่าคู่รักของตนเองเคยใช้ความรุนแรงด้วยความกลัวว่า อาจไม่มีใครเชื่อ ถูกตัดสิน กล่าวโทษ รวมไปถึงดูถูก จากคนภายนอก พฤติกรรมเหล่านี้กลับมาที่คุณค่าในสังคมปิตาธิปไตย (Patriarchy) ที่มุ่งกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ (Victim-blaming) แทนที่จะตั้งคำถามกับผู้ใช้ความรุนแรง ซึ่งมักเป็นผู้ที่มีแหล่งอำนาจเหนือกว่า
วงจรความรุนแรง (Cycle of Abuse)
ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษสามารถแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอนที่มีลักษณะเป็นวงจร อันได้แก่
การก่อตัวของความตึงเครียด (Tension Building) อาจเริ่มจากปัญหาที่ก่อตัวสะสมมานาน
ช่วงที่เกิดความรุนแรง (Incident) ซึ่งเป็นช่วงที่มากการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะทั้งร่างกาย จิตใจ หรือในรูปแบบอื่นๆ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงถัดไป
ช่วงคืนดี (Reconciliation) หรือช่วง Honey Moon Period ที่ผู้ใช้ความรุนแรงจะพยายามขอโทษสิ่งที่ทำไป ผ่านการกล่าวโทษผู้ถูกกระทำว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ตนต้องใช้ความรุนแรง พร้อมทั้งสัญญาว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก และ ‘ขอโอกาสครั้งสุดท้าย’ การกระทำนี้เป็นไปเพื่อหวังให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรงขนาดนั้น และผู้กระทำได้ ‘เปลี่ยนไปแล้ว’ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นถัดไปของวงจร *หากความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นหรือรุนแรงมากขึ้น ช่วงคืนดีก็อาจจะกินระยะเวลายาวนานมากขึ้น เป็นวิธีการหว่านล้อม (Manipulation) ทำให้ผู้ถูกกระทำกลับเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้ง (Re-establish control)
ช่วงสงบสุข (Calm) ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้กระทำปฏิบัติตนราวกับว่าความรุนแรงไม่เคยเกิดขึ้น ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงก่อตัวของความตึงเครียดและตามมาด้วยการใช้ความรุนแรงอีกครั้ง เป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ยิ่งลดอำนาจของผู้ถูกกระทำ ทำให้การออกจากความสัมพันธ์ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้
มีปัจจัยมากมายที่ทำให้คนคนหนึ่งจำใจที่จะยังอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง ถึงแม้ว่าการหาความช่วยเหลือเพื่อออกจากความสัมพันธ์จะเป็นสิ่งคัญ แต่การที่คนนอกมาตัดสิน หรือกล่าวโทษคนที่ยังอยู่ในความสัมพันธ์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้เช่นเดียวกัน เพราะถึงแม้บางคนยังต้องอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือเป็นผู้ที่ ‘ร้องขอ’ ให้เกิดความรุนแรงเหล่านั้น
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Coercive Control ได้ที่
อ่านวิธีการให้ความช่วยเหลือเมื่อคนใกล้ตัวตกอยู่ในความรุนแรง
Comments