Warning Sign of an Abusive Person
สัญญาณอันตรายจากคนที่ชอบทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การทำร้ายร่างกายและจิตใจไม่ใช่เรื่องปกติ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็อาจใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านี้มานานและอาจได้รับการหล่อหลอมจนเคยชินและไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องร้ายแรง
การทำร้ายร่างกายและการทำร้ายจิตใจสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบของความสัมพันธ์ ทั้งในระหว่างครอบครัว คนรัก เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และอื่น ๆ
โดยการถูกกระทำความรุนแรงที่เกิดจากคนที่ชอบทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ (Abusive Person) หรือที่เราเรียกกันว่าผู้กระทำ ก็ไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถูกกระทำแต่อย่างใด
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมคนเราถึงทำร้ายคนอื่นโดยเฉพาะคนใกล้ตัว โดยสิ่งที่อาจเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมให้คนเหล่านี้ชอบทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจผู้อื่นนั้นมีอยู่หลายประการ ทั้งการถูกชอบทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงจากสมาชิกในครอบครัวจนรู้สึกคุ้นชิน คิดว่าเป็นสิ่งปกติที่ทำได้ ความเข้าใจผิดเข้าใจว่าเป็นการแสดงความรักรูปแบบหนึ่ง การที่ผู้กระทำต้องการแสดงว่าตนเหนือกว่า การใช้ความต่างของอำนาจ (Difference In Power Dynamics) เพื่อกดขี่ หรือยังอาจเป็นผลมาจากสื่อที่ส่งต่อความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรุนแรง และอาจมาจากโครงสร้างสังคมที่ถูกปลูกฝังความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) มาอย่างเนิ่นนาน
สัญญาณจากผู้กระทำที่เราควรรู้
ตัวอย่างการกระทำความรุนแรง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น
ผู้กระทำจะเฝ้าติดตามทุกการกระทำของผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรืออยู่กับใครก็มักจะคอยสอดส่องหรือสอบถามอยู่เสมอ หรือหากจะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตเสมอ จนผู้ถูกกระทำอาจรู้สึกอึดอัด หวาดกลัว และอาจรู้สึกเหมือนถูกรุกรานความเป็นส่วนตัว
หึงหวงหรือทำตัวเป็นเจ้าของอย่างรุนแรง บังคับให้ตอบข้อความหรือรับสายทันที ควบคุมการใช้เงิน บังคับให้ทำในสิ่งที่ผู้ถูกกระทำไม่ชอบหรือไม่ต้องการทำ และอาจกล่าวหาว่าผู้ถูกกระทำนอกใจหรือให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าตนเอง
ลดทอนความมั่นใจในตัวของผู้ถูกกระทำ ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง กล่าวหาว่าผู้ถูกกระทำไม่สามารถตัดสินใจได้ดี ดูถูกหรือเหยียดหยามการตัดสินใจ ซึ่งผู้กระทำอาจบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงความ “ห่วงใย”
แสดงอาการฉุนเฉียวด้วยการตะโกน ตะคอกหรือพูดจาเสียงดังบ่อยครั้ง และอาจใช้สายตาจดจ้อง กำหมัด หรือหักข้อนิ้วให้รู้สึกหวาดกลัว
ลงโทษอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นกับคนหรือกับสัตว์ ทำร้ายสัตว์อยู่บ่อยครั้งโดยไม่รู้สึกผิดหรือเห็นใจ
หาเรื่องทะเลาะ กล่าวโทษว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ เป็นสิ่งที่ผู้ถูกกระทำสมควรได้รับ หากทำตัวดีกว่านี้ก็จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และแม้ว่าผู้ถูกกระทำจะปรับปรุงตัวตามความต้องการของผู้กระทำแล้ว ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อ้างว่าไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ และมักทำร้ายร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ หรือทำลายข้าวของเมื่อมีปากเสียงกัน
ใช้คำพูดด่าทอที่รุนแรง ไม่รักษาน้ำใจ ไม่สนใจความรู้สึกของผู้ที่ต้องได้ยินคำพูดเหล่านั้น
เรียกผู้ถูกกระทำด้วยชื่อหรือคำที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ลดทอนศักดิ์ศรี ทำให้ผู้ฟังรู้สึกด้อยกว่า หรือสร้างความอับอายให้กับผู้ถูกกระทำทั้งในบ้านและในที่สาธารณะ
กล่าวหาว่าคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานของผู้ถูกกระทำเป็นคนไม่ดี ยุยงให้เกิดความแตกแยก ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกโดดเดี่ยวและจำเป็นต้องพึ่งพาผู้กระทำเพียงคนเดียวเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเจอเหตุการณ์เหล่านี้ก็คือ การที่ผู้ถูกกระทำไม่โทษว่าเป็นความผิดของตนเอง นึกไว้เสมอว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนเขาได้ จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง แยกตัวออกมาและมองหาทางออกจากความสัมพันธ์เหล่านั้นหากสามารถทำได้ ให้เวลาตนเองในการรักษาร่างกายและจิตใจ หรืออาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพื่อหาแนวทางการออกจากความสัมพันธ์อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นความรุนแรงหรือได้รับความรุนแรง ติดต่อได้ที่
ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300
มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี สายด่วน 1134
สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667
สายด่วนสุขภาพจิตเด็ก มูลนิธิสายเด็ก 1387
Why Do People Abuse?
13 Reasons Why People Abuse
Signs of Abuse
Frequently asked questions: The signs of relationship abuse and how to help
Warning Signs of an Abusive Person
Characteristics of Abusers
How to Recognize the Signs of Emotional Abuse
How to Deal with Abuse
Comments