หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า การขริบอวัยวะเพศในเพศชายหรือการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศและคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้ว การขริบอวัยวะเพศหรือ Genital Mutilation เป็นความรุนแรงในครอบครัวต่อเด็กและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเด็กชายหรือเด็กหญิงก็ตาม
การขริบอวัยวะเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว ความรุนแรงนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทยและยังคงเกิดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการขริบอวัยวะเพศหญิงละชาย แต่ไทยเป็นหนึ่งในรัฐที่ไม่มีกฏหมายเกี่ยวกับการขริบอวัยวะเพศเลย และแทบไม่มีการเก็บข้อมูลหรือดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิของเด็กเกี่ยวกับกรณีนี้อย่างจริงจัง
ชวนทำความรู้จักกับความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อเด็กอีกรูปแบบที่ถูกสังคมทำให้เงียบและทำให้เป็นเรื่องปกติ
FGM คืออะไร
Genital mutilation : การขริบอวัยวะเพศ
Male Genital Mutilation - MGM : การขริบอวัยวะเพศชาย
Female Genital Mutilation - FGM : การขริบอวัยวะเพศหญิง
Genital Mutilation คือ ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศรูปแบบหนึ่ง (Gender-based Violence) และยังถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวที่กระทำต่อเด็ก (Domestic Violence Against Children) การขริบอวัยวะเพศ หมายถึง การทำให้บาดเจ็บทางกายภาพ โดยการขริบหรือกระทำการใดๆ บริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งความรุนแรงลักษณะนี้สามารถเกิดได้ทั้งในเพศกำหนดชายและเพศกำหนดหญิง ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่เป็นอันตราย เป็นความรุนแรงต่อเด็ก
การขริบในเด็กเพศกำหนดชาย
ในเพศกำหนดชายเรียกว่า “Male Genital Mutilation” หรือ MGM, เป็นการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ (Circumcision) แม้การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในบางศาสนาและวัฒนธรรม แต่การขริบในทารกชายถือเป็นความรุนแรงต่อเด็กและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน เนื่องจากเป็นการทำให้เด็กต้องเสี่ยงกับการผ่าตัดทั้งที่เขาไม่อยู่ในสถานะที่จะมอบความยินยอมให้ได้
การขริบในเด็กเพศกำหนดหญิง
การขริบในเพศหญิงเรียกว่า Female Genital Mutilation หรือ FGM หมายถึง การขริบออกบางส่วน หรือตัดเอาอวัยวะเพศกำหนดหญิงภายนอกออกทั้งหมด
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แสดงจุดยืนต่อต้าน FGM และ ให้ข้อค้นพบว่าการกระทำดังกล่าว ไม่ประโยชน์ทางด้านสุขภาพแต่อย่างใด มีเพียงแต่อันตรายต่อเด็กและผู้หญิงเท่านั้น การสร้างบาดแผลต่ออวัยวะในรูปแบบนี้ ส่งกระผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านกายและจิตใจ ไร้ซึ่งเหตุผลทางการแพทย์แต่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
FGM สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนฉับพลัน เช่น ภาวะเลือดไหลไม่หยุด (haemorrhage) ไข้ขึ้น ติดเชื้อ อวัยวะบวม รักษาไม่หายไปจนถึงความเจ็บปวดอย่างรุนแรง อาการช็อคจนเสียชีวิต
นอกจากนี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพที่ย้อนคืนไม่ได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในไต ซีสต์ ปัญหาการเจริญพันธุ์ การเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจในระยะยาวของผู้ถูกกระทำอีกด้วย ซึ่งผู้ถูกกระทำบางคนไม่รู้ตัวว่าถูก FGM ในวัยเด็กด้วยซ้ำ
ในปี 2020 ได้มีรายงานว่า ค่ารักษาพยาบาลของผู้หญิงและเด็กที่มีอาการแทรกซ้อนจาก FGM ใน 27 ประเทศที่มีสถิติผู้ถูกกระทำมากที่สุด มีจำนวนมากถึง 1.4 พันล้านดอลล่าสหรัฐ
แสดงให้เห็นว่าFGM เป็นวัฒนธรรมความรุนแรง และเป็นประเพณีปฏิบัติที่อันตราย เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันในหลายพื้นที่ของแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย มีรากฐานมาจากแนวคิดปิตาธิปไตย ซึ่งเชื่อว่าการขริบจะทำให้ผู้หญิงไม่มีความต้องการทางเพศ และคง ‘ความบริสุทธิ์ของผู้หญิงไว้ได้’ การกดทับทางเพศในรูปแบบ FGM ถือเป็นการริดรอนสิทธิในการมีชีวิตปราศจากความทารุณและความรุนแรงอย่างชัดเจน
ผลการสำรวจปรากฏว่าผู้หญิงและเด็กหญิงราว 200 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 20 ของเด็กหญิงและสตรีทั่วโลกตกเป็นเหยื่อการขริบอวัยวะเพศหญิง การขริบอวัยวะเพศหญิงถือเป็นความรุนแรงที่ต้องขจัดให้หมดไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
สหประชาชาติกำหนดให้มีวันนานาชาติเพื่อต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิง ตรงกับวันที่ 6 ก.พ.ของทุกปี
รูปแบบต่าง ๆ ของ FGM
การตัดปุ่มคลิตอริส
ตัดปุ่มคลิตอริสและแคมเล็ก
การตัดทั้งแคมใหญ่และแคมเล็กแล้วเย็บปิดอวัยวะเพศให้เหลือเพียงช่องเล็กๆ
การขริบหรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นอันตรายหรือทำให้อวัยวะเพศผิดรูปไป เช่น การเฉือน การเจาะ หรือเผา
FGM ในประเทศไทย
ในประเทศไทย ยังปรากฏการขริบอวัยวะเพศหญิงกระจายอยู่ตามภาคต่างๆ อันเป็นความเชื่อของกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามบางกลุ่ม โดยสัดส่วนของชาวมุสลิมในไทยมีอยู่ราว 7-8% ของประชากรทั้งหมด
ชาวมุสลิมเรียกการขริบอวัยวะเพศว่า การเข้าสุนัต การเข้าสุนัตของเด็กชายบางครั้งทำพร้อมกับพิธีเฉลิมฉลอง ในกรณีเด็กหญิงนั้น แม่ที่พาลูกสาวเข้าพิธีสุนัตหลายคนเชื่อว่านี่คือหน้าที่ของแม่ โดยแม่จะอุ้มเด็กหญิงเล็กแบเบาะ ไปทำการเข้าสุนัตที่คลีนิคหมอมุสลิมในชุมชนหรือเชิญ “โต๊ะบิดั่น” หรือ “โต๊ะบิแด” (หมอตำแย) มาทำที่บ้าน
มีความเชื่อว่า “การคิตาน (เข้าสุนัต) ของผู้หญิงมีประโยชน์ในแง่การลดชะฮฺวะฮฺ (ความรู้สึกทางเพศ)ให้น้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องดีงามสำหรับผู้หญิง และเป็นยกการเกียรติสำหรับผู้หญิง”
มุสลิมไทยโพสต์ เศาะฮีฮฺ ฟิกฮุซซุนนะฮฺ โดย อบู มาลิก กะมาล อิบนุ อัซซิด ซาลิม
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ FGM ในไทย
รูปแบบของ FGM ในไทย ตามรายงานของ Orchid Project ปี 2020 ระบุว่าเป็นรูปแบบการขริบแบบที่ 4 คือแบบอื่น ๆ เช่น การใช้กรรไกรหรือมีดเฉือนสไลด์บางๆ บางส่วนของคลิตอริสออก หรือทำเป็นรอยบากพอเป็นสัญลักษณ์
การขริบอวัยวะเพศหญิง หรือ สุนัต ในภาคใต้ เกิดขึ้นต่อเนื่องในไทยมาหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยภาคใต้ตอนล่างยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสุลต่านมาเลย์ปัตตานีอิสระ
แต่ FGM ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในภาคใต้เท่านั้น ชุมชนมุสลิมภาคกลางก็ยังคงมีปรากฏประเพณีการเข้าสุนัตของเด็กหญิง
FGM มักกระทำตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุไม่เกิน 2 ปี
ผู้หญิงไทยหลายคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตัวเองผ่านการขริบ เนื่องจากการขริบนั้นทำตั้งแต่พวกเธอยังเป็นทารก
ข้อมูลสถิติของ FGMในประเทศอื่นนอกทวีปแอฟริกา มีน้อยมาก ทำให้ไม่สามารถทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้เลย จึงทำให้การผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐต้องให้ความสำคัญเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
การทำสุนัตไม่ใช่แค่วิธีการทางการแพทย์ แต่เป็นกระบวนการตามหลักศาสนาด้วย จึงมักนิยมให้หมอมุสลิม (โต๊ะบิแด, โต๊ะบิดั่น) เป็นผู้ทำ ไม่ใช่แพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ
หน่วยงานสาธารณะสุขในพื้นที่รับรู้ว่ามีการทำ FGM ในพื้นที่ และรัฐไทยมองการขริบอวัยวะเพศหญิงในฐานะประเพณีปฏิบัติของชาวมุสลิม
“แค่กรีดเพื่อให้เลือดออก ไม่มีการเฉือนเนื้อ ในการทำสุหนัตเราใช้คนแค่สามคน ให้แม่เป็นคนอุ้มเด็กเอาไว้ ให้ผู้ช่วยจับเด็กอ้าขา ฉันใช้มือซ้ายแหวกอวัยวะเพศของเด็กออก ใช้มือขวาดึงคลิตอลิสไปข้างหลัง แล้วเฉือน เด็กร้องนะ แต่ไม่มาก ไม่มีอาการแทรกซ้อนอะไรหลังจากนั้น”
แพทย์หญิงผู้เปิดคลินิกเล็กๆ เพื่อให้บริการสุนัตอธิบายขณะทำมือประกอบว่าเธอทำ FGM อย่างไร
รัฐไทยดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อแก้ไขปัญหา FGM?
รัฐไทยไม่มีกฏหมายใดที่ประกาศว่า FGM เป็นความรุนแรงหรือผิดกฏหมาย
ไม่มีนโยบายระดับชาติใดๆ เกี่ยวกับ FGM
รัฐไทยตกลงจะปฏิบัติตาม SDG (Sustainable Development Goals) ข้อ 5.3 ขจัดประเพณีปฏิบัติที่เป็นอันตราย เช่น การแต่งงานเด็กและ FGM และข้อ 5.3.2 ที่จะรายงาน สัดส่วนของเด็กหญิงและสตรีอายุ 15-49 ปีที่ได้รับ FGM/C แยกตามอายุ
รัฐไทยให้สัตยาบัน CEDAW ในปี 1984 และตกลงจะปฏิบัติตาม Recommendation ของ CEDAW ปี 2017 ว่าจะรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ว่า FGM เป็นความรุนแรงและเป็นอาชญากรรม อ้างอิงตาม Recommendation ของคณะกรรมการ CEDAW ข้อ 31 และ Recommendation ฉบับที่ 18 ของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กในปี 2014 เกี่ยวกับประเพณีปฏิบัติที่เป็นอันตราย
รัฐไทยให้สัตยาบันในการประชุมว่าด้วยสิทธิเด็กครั้งแรกในปี 1992 แต่คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งข้อสังเกตว่า ในรายงานของประเทศไทยปี 2012 ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ FGM ในรายงานระยะที่ 3 และ 4 เลย
รัฐไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในเวทีระหว่างประเทศเพื่อขจัดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ในรูปแบบของการขลิบอวัยวะเพศเด็กแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่มีแนวทางการศึกษาประเด็นปัญหานี้ และไม่มีการวางนโยบายหรือแนวทางการดำเนินงานใดๆ เพื่อปกปกสิทธิเด็กและขจัดความรุนเเรงกรณีการขริบอวัยวะเพศเด็กให้หมดไปเลยแต่อย่างใด
Opmerkingen