top of page
Search
sherothailand

Emotional Abuse: การทำร้ายทางจิตใจที่ไม่มีใครควรเผชิญ


เมื่อพูดถึงความรุนแรง หลายคนอาจนึกถึงเพียงแค่ความรุนแรงที่ปรากฏให้เห็นร่างกายเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีการทำร้ายอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า การทำร้ายทางจิตใจ (Emotional Abuse) ซึ่งความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงรูปแบบดังกล่าวต่อผู้ถูกกระทำนั้น รุนแรงไม่ต่างจากการทำร้ายร่างกายเลย หลายครั้ง บาดแผลจากการถูกทำร้ายทางจิตใจฝังลึกและใช้เวลาดูแลรักษายาวนานกว่าบาดแผลภายนอกร่างกายมาก


วันนี้เราจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับการการทำร้ายทางจิตใจ (Emotional Abuse) เพื่อให้รู้เท่าทันว่าสิ่งนั้นเป็นความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม และเมื่อเรารู้แล้วว่าเราไม่ใช่คนที่ผิด เราอาจจะค่อย ๆ มองเห็นหนทางในการดูแลตัวเองและขอความช่วยเหลือต่อไปได้


อะไรคือ Emotional Abuse ?

การใช้ความรุนแรงในการทำร้ายจิตใจ หรือ Emotional Abuse เป็นความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ระหว่างคู่รัก ระหว่างเพื่อนร่วมงานระหว่างเพื่อนในสถานศึกษา ครูกับนักเรียน ไปจนถึงความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ในทุกรูปแบบที่ส่งผผกระทบกระเทือนจิตใจ ไม่เว้นแม้แต่ความรุนแรงทางการเมือง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่างๆ


การทำร้ายทางจิตใจที่มักถูกมองข้ามหรือทำให้เป็นเรื่องปกติ คือ การใช้คำพูดหรือการกระทำที่ทำร้ายจิตใจ ทำให้อับอาย เสียศักดิ์ศรี ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือประสบการณ์ การทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว ไม่ให้ความรักหรือการดูแลที่เหมาะสม พูดเปรียบเทียบหรือประชด ดุด่าด้วยคำหยาบคาย ตะโกน ตะคอกหรือทำให้กลัว ไปจนถึงกล่าวโทษหรือทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกผิด ความรุนแรงเหล่านี้ส่งผลต่อจิตใจ ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ด้อยกว่าคนอื่น ๆ ไม่มีศักยภาพที่ดีพอ อ่อนแอ ไร้ความสามารถ รู้สึกโดดเดี่ยว และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้ในระยะยาว


สัญญาณของ Emotional Abuse ที่ควรรู้

ลักษณะของการการทำร้ายทางจิตใจนั้น อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำด้วยการแสดงท่าทางหรือด้วยคำพูด

  • สั่งสอนตลอดเวลาไม่ว่าจะพูดคุยกันด้วยประเด็นใด

  • ตัดสินมุมมองหรือความคิดของผู้ถูกกระทำด้วยความอคติ

  • ทำเหมือนผู้ถูกกระทำเป็นเด็กหรือเป็นผู้ที่ด้อยกว่า ฉลาดน้อยกว่า ดูถูกสติปัญญา

  • ใช้คำพูดที่ยกตนเหนือกว่าและทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกน่าสมเพช

  • ปั่นหัวหรือทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่มั่นใจและเกิดคำถามกับความเป็นตัวเอง

  • ควบคุมหรือจับตามองอยู่ตลอดไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะทำอะไร ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน

  • หึงหวงหรือหวาดระแวงอย่างรุนแรง

  • กล่าวหาว่าผู้ถูกกระทำนอกใจทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐาน

  • ทำให้อับอายด้วยคำพูดหรือการกระทำ อาจเกิดได้ทั้งในสถานที่ปิดหรือในที่สาธารณะ

  • ตะคอก พูดจาเสียงดังใส่

  • กลั่นแกล้ง

  • คาดเดาอารมณ์ผู้กระทำได้ยาก โดยอาจโมโหอย่างไม่มีเหตุผล

  • เมินเฉย ทอดทิ้งหรือไม่ใส่ใจในความต้องการของผู้ถูกกระทำ ทำเหมือนความคิด ความต้องการเหล่านั้นไม่มีค่าพอให้สนใจ


ทำอย่างไรดี เมื่อต้องเผชิญกับ Emotional Abuse ?


หากเริ่มรู้สึกได้ว่าตนเองกำลังเผชิญกับการทำร้ายทางจิตใจ ไม่ว่าจะจากใครก็ตาม คนๆ นั้นอาจเป็นพ่อแม่ คนที่เรารัก เพื่อน หรือครูอาจารย์ ควรค่อย ๆ ยอมรับในความรู้สึกที่เหมือนว่าเราถูกทำร้ายและต่ำต้อยนั้น ยอมรับว่าความรู้สึกของเรามีที่มา เกิดจากการถูกทำร้ายทางจิตใจ


การยอมรับความรู้สึกเจ็บปวดในใจเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เราตระหนักรู้ว่าเรากำลังตกอยู่ในความรุนแรง และทำให้เราสามารถค่อยๆ ก้าวไปยังขั้นตอนที่สอง คือ ดูแลตนเอง การดูแลตนเองเริ่มได้จากการเข้าใจว่า เราไม่ผิด เราไม่สมควรถูกกระทำ ไม่ว่าจะผู้กระทำจะอ้างสาเหตุใดๆ ขึ้นมาก็ตาม


การดูแลตนเองยังสามารถทำได้โดยการหาการสนับสนุนทางอารมณ์จากคนที่ไว้ใจหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยา หรือผู้ให้คำปรึกษา การได้เล่าความเจ็บปวดจากการถูกทำร้ายจิตใจออกไปให้ผู้เชี่ยวชาญรับฟังเป็นการจัดการกับอารมณ์ในสมองส่วนกลาง ช่วยแบ่งเบาความรู้สึกไร้ทางออก และให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยสะท้อนและยืนยันว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านั้นไม่ใช่ความผิดของเรา


หลายครั้ง การทำร้ายทางจิตใจเกิดในสภาพแวดล้อมที่เราไม่สามารถปลีกตัวหลบหนีออกมาได้ทันทีด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง กระบวนการตั้งแต่ยอมรับความรู้สึก เข้าใจว่าตนเองไม่ผิด ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ วางแผนความปลอดภัยเผื่อในกรณีที่เกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง และก้าวออกจากความรุนแรงอาจกินเวลายาวนาน นั่นไม่เป็นไรเลย

สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องเริ่มต้นในการยอมรับว่าเรากำลังถูกทำร้าย ไม่หาเหตุผลการกระทำดังกล่าวให้การทำร้ายจิตใจเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหรือเหมาะสม จัดเวลาให้เราได้ฟื้นฟูจากความเจ็บปวด หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ เพื่อให้สามารถฟื้นฟูจิตใจได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้มีความสุขกับการเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง



Reference


9,937 views0 comments

Comments


bottom of page