top of page
Search

Acquaintance Rape : เมื่อการข่มขืนไม่ใช่ภัยจากคนไกลตัว

Acquaintance Rape : เมื่อการข่มขืนไม่ใช่ภัยจากคนไกลตัว

1. ‘การข่มขืนโดยคนรู้จัก (Acquaintance Rape)’ คืออะไร?

การข่มขืนโดยคนรู้จัก หรือ Acquaintance Rape คือ การบีบบังคับไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม มีการใช้กำลังทางกาย หรือวาจาเพื่อให้ผู้ถูกกระทำมีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยผู้กระทำจะเป็นคนรู้จัก เช่น เพื่อน คนรัก ครู เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ

ซึ่งในการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์อาจมีการใช้ความรุนแรง การกดดันทางคำพูด การใช้แอลกอฮอลล์และสารเสพติด รวมไปถึงการใช้อำนาจเหนือในความสัมพันธ์เพื่อหว่านล้อมให้อีกฝ่ายมีเพศสัมพันธ์ด้วย

โดยคำว่า Acquaintance Rape นั้น เป็นคำที่มีขึ้นเพื่ออธิบายการข่มขืนจากคนรู้จัก และลบภาพจำที่ว่าความรุนแรงทางเพศมักเกิดจากคนแปลกหน้า


เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้ถูกกระทำในหลายกรณีรู้จักกับผู้ข่มขืนซึ่งอาจเป็นได้ทั้งในฐานะคู่รัก และในฐานะอื่นๆ เช่น ครู-นักเรียน เจ้านาย-ลูกจ้าง เพื่อน ฯลฯ อย่างเช่นในงานวิจัยจาก Glasgow University ก็พบว่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้หญิงจำนวน 991 คนในสกอตแลนด์ ในจำนวนนี้มีถึง 91% ที่เผชิญกับความรุนแรงทางเพศโดยคนรู้จัก นอกจากนี้ การใช้คำว่า ‘rape’ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ถ้าหากไม่มีการยินยอมพร้อมใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักหรือไม่ ความสัมพันธ์ทางเพศนั้นก็ยังคงเป็นการข่มขืน


2. ประเภทอื่นๆ ของ Acquaintance Rape

a. Date Rape : Date Rape หมายถึง การข่มขืนที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบคู่รัก ซึ่งในที่นี่หมายได้หมายความต้องตกลงปลงใจเป็นแฟนกันแล้ว จึงจะนับว่าเป็น Date Rape เสมอไป แต่ยังรวมไปถึงระหว่างการเดทด้วย

i. ยิ่งไปกว่านั้น การข่มขืนไม่ได้นับเพียงแค่การขืนใจเพื่อให้อีกฝ่ายมีเพศสัมพันธ์แต่ยังรวมไปถึง Stealthing หรือการแอบถอดถุงยางอนามัยขนะมีเซ็กส์ด้วย โดยถึงแม้ว่าแต่ละฝ่ายจะยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่การที่ฝ่ายหนึ่งจงใจทำให้ถุงยางชำรุด หรือลักลอบถอดถุงยางขณะที่มีเซ็กส์โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่ายนั้นก็ถือว่าเป็นการข่มขืนอย่างชัดเจน

b. Marital Rape : Marital Rape หมายถึงการข่มขืนโดยคู่สมรส โดยในอดีตสังคมมักมองว่าถ้าหากแต่งงานกันแล้ว การถามความยินยอมก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น และผู้หญิงมีหน้าที่ต้องมีเพศสัมพันธ์กับสามีเพราะถือเป็นหน้าที่ของภรรยา

i. สำหรับในกรณีประเทศไทยเอง มีการกำหนดให้การข่มขืนระหว่างสามีภรรยา เป็นความผิดตามกฎหมาย ตั้งแต่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ในปี 2550 โดยจากเดิมที่ระบุว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยขู่เข็ญ” ไปเป็น “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญ” ซึ่งส่งผลให้การตีความเปลี่ยนไป จากเดิมที่กำหนดให้ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ เปลี่ยนเป็น ไม่ว่าเพศใดก็สามารถเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้เสียหายในความผิดนี้ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการกำหนดให้การข่มขืนโดยคู่สมรสเป็นความผิด จากเดิมที่กำหนดให้การข่มขืนคือการกระทำชำเราผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ภรรยาของตน


3. การข่มขืนโดยคนรู้จักกับ Victim Blaming

สิ่งที่ตามมาหลังจากที่สังคมเห็นว่าผู้ถูกกระทำและผู้กระทำรู้จักกันก็คือ การตั้งคำถามกับเหตุการณ์ และการกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ (Victim Blaming) ซึ่งคือการที่ผู้เสียหายถูกกล่าวโทษว่ามีส่วนหรือเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงแก่ตนเอง โดยเราสามารถเห็นได้ว่าการกล่าวโทษผู้ถูกกระทำมักทำผ่านการตั้งคำถามเช่น “ทำไมไปเที่ยวกับเขา” “ทำไมไปที่ห้องเขา” “แต่งตัวโป๊หรือเปล่า” และอื่นๆ อีกมากมาย

โดยสาเหตุที่สังคมชอบตั้งคำถามเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าการแก้ปัญหาสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา กล่าวคือ เรา ในฐานะผู้ถูกกระทำก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ได้ และจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ไม่เอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายสามารถลงมือได้

แต่ในความเป็นจริงแล้วการตั้งคำถามและความเชื่อนี้กลับเป็นการผลักความผิดไปที่ผู้ถูกกระทำ อีกทั้งยังลดทอนความรุนแรงและความผิดของผู้กระทำอีกด้วย ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำค่านิยมในระบอบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ที่ให้คุณค่ากับเสียงของผู้ชาย และลดทอนเสียงของผู้ถูกกระทำซึ่งมักเป็นผู้หญิง

การล่วงละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้กระทำตัดสินใจทำสิ่งนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของผู้ใช้ความรุนแรง ปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ การออกไปเที่ยว ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้า คนรู้จักกัน หรือคู่รัก ถ้าหากขาดการยินยอมที่สมบูรณ์หรือการยินยอมที่ปราศจากการกดดัน บีบบังคับ ขู่เข็ญ ไม่ว่าอย่างไรสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการล่วงละเมิดอยู่ดี และความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นย่อมไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำเลยแม้แต่น้อย

—-----------------------------------------------------

หากคุณหรือคนใกล้ตัวคือผู้ประสบเหตุความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

โทร 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม

โทร 1157 ปรึกษาทางกฎหมายสายด่วนอัยการคุ้มครองสิทธิ

กรณีผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 18 ปี โทร 1387 สายเด็ก Childline


545 views0 comments
bottom of page