แน่นอนว่าการใช้คำพูดสามารถทำร้ายจิตใจผู้ฟังได้ในบางครั้ง และอาจเกิดขึ้นจากความตั้งใจของใครหลาย ๆ คน การทำร้ายจิตใจทางคำพูดหรือทารุณทางวาจา (Verbal abuse)นั้น แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดบาดแผลตามร่างกายหรือความเจ็บปวดที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่อาจสร้างบาดแผลให้กับจิตใจของที่จะอยู่กับผู้ถูกกระทำในระยะยาวไปอีกนาน
วันนี้เรามาดูกันถึงความหมายของการทำร้ายจิตใจทางคำพูด (Verbal abuse) และแบบไหนที่เรียกว่าความรุนแรงทางคำพูด เพื่อป้องกันและช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญความรุนแรงรูปแบบดังกล่าวได้
Verbal abuse คืออะไร?
การทำร้ายจิตใจทางคำพูดเป็นหนึ่งในรูปแบบของการทำร้ายที่พบได้ในทุกความสัมพันธ์และในทุกสังคม โดยมักจะมาในรูปแบบของการใช้คำพูดเพื่อทำร้ายความรู้สึก เพื่อควบคุมหรือทำให้ผู้ฟังรู้สึกต้อยต่ำ ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำเพื่อให้รู้สึกโง่ ไม่มีค่า
ซึ่งสิ่งที่จะช่วยแยกระหว่างการถกเถียงความขัดแย้งทั่วไปกับการทำร้ายจิตใจด้วยคำพูด ได้แก่
การถกเถียงทะเลาะด้วยความขัดแย้งทั่วไปจะไม่เกิดขึ้นติดกันทุกวัน มักไม่ใช่การเอาชนะอีกฝ่าย ไม่เกิดการข่มขู่หรือลงโทษกันในภายหลัง
การถกเถียงทะเลาะจะจบลงอย่างรวดเร็ว ไม่ยืดเยื้อ กินเวลาน้อย
ส่วนการทำร้ายจิตใจทางคำพูดจะมาในรูปแบบของการใช้คำพูดดูถูกหรือทำให้ผู้ถูกกระทำอับอาย หากอีกฝ่ายเกิดความรู้สึกเสียใจ ผู้กระทำก็จะโทษว่าเป็นเพราะความอ่อนแอของผู้ถูกกระทำเอง และตัวผุ้กระทำแค่พูดเล่นเท่านั้น และผู้กระทำยังอาจตะคอกบ่อยครั้ง ชอบชวนทะเลาะอย่างไม่มีสาเหตุและวนเวียนไม่รู้จบ ใช้คำพูดปั่นหัว ข่มขู่ วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกผิดและให้ตัวเองรับบทเหยื่อแทน อีกทั้งผู้กระทำบางคนยังทวงบุญคุณ อ้างว่าตนเองดีแค่ไหนแล้วที่ไม่ลงมือทำร้ายร่างกายผู้ถูกกระทำอีกด้วย
Verbal abuse ส่งผลต่อผู้ถูกกระทำอย่างไร?
การทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ประสิทธิภาพในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และหากผู้ถูกกระทำถูกทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจได้ อาทิ
รู้สึกผิด สิ้นหวังและละอายใจ
เกิดภาวะวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า
เกิดภาวะเครียดเรื้อรัง
การรับรู้คุณค่าของตนเองลดลง
เกิดอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง (PTSD)
มีภาวะตัดขาดจากสังคม อันเนื่องมาจากความผิดปกติทางอารมณ์และความมั่นใจในตัวเองที่ลดลง
มองโลกในแง่ร้าย โทษตัวเอง
มองว่าความรุนแรงที่เกิดกับตนเป็นเรื่องปกติ เพราะตนเองถูกกระทำมาเป็นเวลานาน อาจมีแนวโน้มหรืออาจกลายเป็นผู้ส่งต่อความรุนแรงกระทำในอนาคต
ทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับ Verbal abuse
หากสังเกตเห็นหรือรู้สึกว่าตนเองกำลังเผชิญกับผู้ที่ทำร้ายจิตใจด้วยคำพูด ควรเชื่อในความรู้สึกของตนเอง ว่าตนเองรู้สึกแย่ รู้สึกถูกทำร้าย ซื่อสัตย์และให้ความสำคัญกับความคิดนั้น ตระหนักว่าไม่จำเป็นต้องพยายามหาเหตุผลหรือความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมของผู้กระทำควรหาเหตุผลในการทำร้ายให้กับผู้กระทำ หรือคิดว่าพฤติกรรมของตนเองไม่ใช่ข้ออ้างหรือใบบนุญาตให้ผู้กระทำกระทำความรุนแรง ตนเองสมควรโดนทำร้าย หันกลับมาดูแล ใส่ใจความรู้สึกของตนเอง ยอมรับ ทำความเข้าใจรับรูถึงรู้เท่าทันความเครียด ความวิตกกังวลและอารมณ์ต่าง ๆ และหาเวลาดูแลสุขภาวะของตนเองคลายเครียดระหว่างวันอยู่เสมอ และหากสามารถทำได้ อาจพูดคุยกับผู้กระทำโดยตรงถึงขอบเขตของการใช้คำพูดในการวิจารณ์ การดูถูกหรืออื่น ๆ
สิ่งที่จะช่วยได้มากอีกอย่างหนึ่งคือการให้กำลังใจ คุณค่า และความภูมิใจกับตัวเองนอกจากนี้ ยังควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเราาทุกคนมีคุณค่า ควรได้รับสิ่งที่ดี ค่อย ๆ ถอยห่างออกจากผู้กระทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออาจพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อขอคำปรึกษาและรับความช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถรับมือและบรรเทาได้อย่างเหมาะสม
หากสามารถทำได้ อาจวางแผนกับผู้ไว้ใจหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมหาวิธีพูดคุยกับผู้กระทำโดยตรงว่าสิ่งที่เขากระทำนั้น เป็นความรุนแรง และเขาควรหยุดการกระทำนั้นโดยทันที
Reference
Comentários