ข้อควรทำ (Do)
· เข้าหาด้วยความระมัดระวังและเคารพหลักการรักษาข้อมูลความลับของผู้เสียหาย
· ใช้หลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Survivor-centred approach)
· รับฟังอย่างตั้งใจในระหว่างที่ผู้เสียหายกำลังจะเล่าเหตุการณ์ ให้พื้นที่และให้อำนาจกลับคืนสู่ผู้เสียหายแล้วแต่ว่าเขาอยากจะเล่ามากน้อยเพียงใด
· ย้ำเตือนว่ามันไม่ใช่ความผิดของผู้เสียหาย เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของผู้กระทำ
· อธิบายขั้นตอนวิธีการช่วยเหลือที่ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงได้ด้วยภาษาที่ง่ายและตรงไปตรงมา
· จัดลำดับความสำคัญให้กับความต้องการของผู้เสียหาย
· แสดงความกังวลและห่วงใยถึงสวัสดิภาพของผู้เสียหายและลูก เสริมกำลังผู้เสียหายด้วยข้อมูลที่เพิ่มทางเลือกให้พวกเขา
· ตระหนักถึงทัศนคติ ประสบการณ์ และการตอบสนองต่อความรุนแรงของตนเองอยู่เสมอ การไม่เห็นด้วยกับการกระทำและหรือทัศนคติของผู้เสียหายนั้นไม่ผิดตราบใดที่การแสดงออกยังคงเป็นกลาง เอาใจใส่ และเข้าอกเข้าใจ
· ช่วยให้ผู้เสียหายเข้าใจความอันตรายและรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ของความรุนแรง
· สนับสนุนให้ผู้เสียหายขยับก้าวเล็กๆ ซึ่งจะนำไปสู่อิสระและสร้างความมั่นใจในตนเอง
· คำนึงถึงปัจจัยด้านค่านิยมและความเชื่อทางวัฒนธรรมในสังคมอยู่เสมอ
· ช่วยตั้งคำถามกระตุ้นให้ผู้เสียหายที่ใช้ความเชื่อทางศาสนาสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงได้ฉุกคิดทบทวน
· แสดงออกถึงความเป็นห่วงในความปลอดภัยของผู้เสียหายและเคารพเหตุผลของพวกเขาหากเลือกที่จะอยู่ต่อ (ในบางกรณีการแยกผู้เสียหายออกจากผู้กระทำอาจเป็นเรื่องอันตรายต่อตัวผู้เสียหายเอง)
· อธิบายบทบาทของคุณกับผู้ถูกระทำให้ชัดเจน ซื่อตรงกับผู้เสียหายในสิ่งที่คุณสามารถและไม่สามารถกระทำให้ได้
· ตระหนักว่าการแสดงออกและการตอบสนองของผู้เสียหายอาจเปลี่ยนแปลงได้บ่อยและไม่สามารถคาดเดาได้ โดยการตอบสนองอาจเกิดขึ้นตั้งแต่การต่อต้านจนถึงการให้ความร่วมมือ
· แสดงความกังวลหากสถานการณ์มีความร้ายแรงถึงชีวิตและกระทำในสิ่งที่ควรกระทำ
· คาดการณ์ได้เมื่อผู้เสียหายและผู้กระทำเข้าสู่วงจรฮันนีมูน (Honeymoon period) ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้เสียหาย
· ตั้งคำถามกับการอธิบายภาพเหตุการณ์ของผู้เสียหายและถามอย่างตรงไปตรงมาว่าคู่ของพวกเขามีการทำร้ายร่างกาย/จิตใจหรือไม่ ซึ่งการเข้าหาต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและไม่มีลักษณะของการข่มขู่คุกคาม
· อดทนและซื่อตรงต่อผู้เสียหายโดยเฉพาะกับประเด็นข้อมูลที่เป็นความลับ (Confidentiality)
· ดูแลสุขภาวะของตัวเองให้ดี มีขอบเขต (Boundaries) ในการทำงาน
ข้อที่ไม่ควรทำ (Don’t)
· ไม่ควรคิดไปเองว่าผู้เสียหายตระหนักถึงทางเลือกและความช่วยเหลือที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้
· ไม่ควรโถมกระหน่ำข้อมูล ตัวเลือก สิ่งที่ต้องตัดสินใจและความช่วยเหลือต่างๆ ให้ผู้เสียหายในคราวเดียว
· ไม่ควรตั้งคำถามกับผู้เสียหายว่าเหตุใดจึงยังทนอยู่ คำถามประเภทนี้มีนัยที่สื่อว่าผู้เสียหายนั้นผิดที่ยังทน การออกมาไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาเสมอไป
· ไม่ตัดสินสิ่งต่างๆ โดยยึดเพียงชุดความคิดของตนเอง การแสดงออกของคุณสามารถส่งผลต่อการตอบสนองของผู้เสียหายได้อย่างมาก
· ไม่ตัดสินการเลือกคู่ครองของผู้เสียหาย
· ไม่ควรคาดหวังให้ผู้เสียหายประดิษฐ์ภาพความรุนแรงเกินความจริง
· ไม่ควรพยายามช่วยเหลือผู้เสียหายด้วยตัวเองโดยพลการ
· ไม่ควรตัดสินว่าผู้เสียหายต้องเป็นเหมือนกันหมด
· ไม่ควรต่อต้านหรือเพิกเฉยหากผู้เสียหายยึดความเชื่อทางศาสนา
· ไม่แสดงออกถึงความผิดหวังเมื่อพวกเขาเลือกที่จะอยู่ต่อ การกระทำแบบนี้อาจดึงความรู้สึกของการล้มเหลวและความรู้สึกไร้ค่าของผู้เสียหายออกมา
· ไม่ผูกตนเองเข้ากับบทบาทของผู้ให้คำปรึกษาชีวิตคู่ ผู้ไกล่เกลี่ย และหรือกระทั่งผู้เป็นกรรมการชี้ขาดในความสัมพันธ์
· ไม่ควรชี้นำผู้เสียหายให้ไกล่เกลี่ยเพื่อกลับมาคืนดีกับผู้กระทำ
· ไม่ควรยึดติดกับทัศนคติครอบครัว (Family-centric) ต้องอยู่ด้วยกัน
·ไม่ควรถางถางหรือเหยียดยามความล้มเหลวของผู้เสียหายที่ไม่สามารถปฏิบัติหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์ในแนวทางที่คุณคิดว่ามันควรเป็นได้ ความฉุนเฉียวของคุณอาจหมายถึงการกล่าวโทษผู้เสียหายและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเข้าหาผู้เสียหาย
· ไม่ควรเพิกเฉยต่อสัญญาณอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรง
· ไม่ควรคาดหวังให้ผู้เสียหายตัดสินใจในทันทีหรือกระทั่งผลักดันความคาดหวังที่เกินจริงของผู้เสียหาย
· ไม่ควรตัดสินใจแทนผู้เสียหาย
· ไม่ควรทำตัวเป็นนักบุญมาโปรดสัตว์หรือทำตัวมีบารมีสูงส่งกว่ามาเพื่อชี้นำทางแก่ผู้เสียหาย
· ไม่สนับสนุนให้ผู้เสียหายกล่าวโทษตนเองหรือหาเหตุผลมาสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง
·ไม่ควรตอบสนองช้าเมื่อมีการแจ้งเหตุการณ์ความรุนแรงเข้ามา จังหวะเวลาคือหัวใจของการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน
· ไม่ควรละเลยอาการบาดเจ็บที่ปราศจากคำอธิบายอันมาพร้อมกับเหตุผลที่ดูไม่น่าเชื่อ
· ไม่ควรให้สัญญาในสิ่งที่คุณทำไม่ได้
ขอขอบคุณทีมอาสาสมัครองค์กรชีโร่
Translator: Kingkarn Tonkrongchan
Editor/Graphic design: Nudchanard Kammee
อ้างอิง UNC (2021). Do's & Don'ts of Handling Domestic Violence Victims.
ปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมโดย SHero Thailand
อ่านคู่มือที่น่าสนใจสำหรับการทำงานจัดการเคสความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (GBV Management) ฉบับภาษาอังกฤษ ได้ที่นี่
コメント